เทคโนโลยีสุดล้ำที่ช่วยทำให้การจัดงานปลอดภัย ในยุค New Normal

ธุรกิจ MICE หรือธุรกิจการจัดประชุมและนิทรรศการเคยสร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี จนกระทั่งมาพบกับวิกฤตโรคระบาดทำให้อุตสาหกรรม MICE กลายเป็นกลุ่มที่โดนผลกระทบไปพร้อม ๆ กับกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ทั้งข้อกำหนดในการห้ามเดินทาง การรักษาระยะห่าง และมาตรการการควบคุมโรค ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องรีบปรับตัว และหาวิธีเดินเกมใหม่เพื่อให้อยู่รอดได้ในยุควิกฤต

หลายครั้งที่วิกฤตได้กลายมาเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ปัจจุบันมีความพยายามในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ไม่เพียงแค่ช่วยแก้ปัญหา แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดงานอีเวนต์ให้ดียิ่งกว่าเดิมเมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีการระบาด วันนี้เราจะมาดูกันว่า เทคโนโลยีล้ำ ๆ เหล่านี้มีอะไรกันบ้าง

Human Touch in Virtual Event
Human Touch in Virtual Event

หลายคนที่ต้อง Work from Home คงคุ้นเคยกับเทคโนโลยีอย่าง Live Stream, Webinar, Zoom ฯลฯ ซึ่งได้กลายมาเป็นตัวเลือกแรก ๆ สำหรับผู้จัดงานประชุมสัมมนา ทั้งนี้ผู้จัดงานต่างพยายามปรับปรุงประสบการณ์เสมือนจริงให้เทียบเคียงหรือเหนือกว่าการจัดงานแบบเดิม โดยพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ร่วมงานและผู้จัดงาน หรือระหว่างผู้ร่วมงานด้วยกันเอง เพื่อเติมเสน่ห์ให้การร่วมงานในโลกออนไลน์มีชีวิตมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ Beyond Live ของ SM Entertainment ที่แฟนคลับสามารถส่งข้อความถึงศิลปินบนเวทีได้แบบเรียลไทม์ และมีการใช้บริการ Sync Play เพื่อเชื่อมต่อแท่งไฟของแฟนคลับเข้ากับการแสดงและสามารถเปลี่ยนสีแท่งไฟได้ตามเพลงแต่ละเพลง ทำให้เหล่าแฟนคลับรู้สึกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนได้อยู่ในคอนเสิร์ตจริง ๆ

Multi-Location Event
Multi-Location Event

การจัดงานใหญ่ ๆ ที่ให้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมารวมกันอยู่ในที่เดียวอาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ยิ่งหากต้องเดินทางไปร่วมงานที่จัดแค่ 3 วัน แต่ต้องกักตัวล่วงหน้าถึง 14 วัน หลาย ๆ คนอาจเลือกที่จะไม่ไปเลยดีกว่า ในช่วงปีที่ผ่านมานี้เราจึงเริ่มเห็นการจัดงานแบบไฮบริดมากขึ้น โดยแบ่งการจัดงานออกเป็นหลาย ๆ ที่และผสมผสานทั้งการจัดงานในสถานที่จริงและแบบออนไลน์ อย่างเช่นในงานประกาศผลรางวัลลูกโลกทองคำประจำปีนี้ ที่มีนโยบายให้นักแสดงและคนดังทั้งหลายร่วมลุ้นรางวัลจากที่บ้านผ่านทางวิดีโอคอล และให้เหล่าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้มีโอกาสมานั่งเป็นผู้ชมแบบเว้นระยะห่างภายในงานแทน ทั้งนี้การจัดงานถูกแบ่งออกเป็นงานขนาดเล็กสองงานในนิวยอร์กและเบเวอรี่ฮิล และใช้เทคโนโลยีรวมพิธีกรทั้งสองคนที่อยู่ต่างเมืองให้มาอยู่ร่วมกันบนเวทีเดียว เราจึงได้เห็นภาพทีน่า เฟย์ และ เอมี่ โพเลอร์ พิธีกรคู่หูคู่ฮาเล่นมุกใส่กันบนเวทีได้อย่างลื่นไหลราวกับอยู่ในที่เดียวกัน

Contactless Check-in
Contactless Check-in

Zipevent คือแพลตฟอร์มรวบรวมงานอีเวนต์ทั่วประเทศไทย ที่ได้ผันตัวเองมาเป็นผู้ให้บริการจัดงานอีเวนต์แบบครบวงจร โดยได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Zipevent ขึ้นมาใหม่ให้มีความสามารถในการจองบัตรและการลงทะเบียนเข้างาน เพียงแค่ผู้ร่วมงานคลิกลงทะเบียนเข้างานผ่านแอปพลิเคชั่น ก็เป็นการลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อจากการสัมผัสไปได้มาก แอปพลิเคชั่นยังมีระบบ interactive ที่ทำให้ผู้ร่วมงานสามารถถาม-ตอบกับผู้พูดบนเวทีได้ และยังสามารถเปิดดูโบรชัวร์ต่าง ๆ ได้ผ่านแอป ผู้ร่วมงานจึงไม่ต้องเดินถือโบรชัวร์กระดาษไปมาให้เกะกะจนเผลอวางเอกสารที่ตัวเองสัมผัสแล้วทิ้งไว้ในงาน นอกจากนี้ยังมีระบบรวบรวมสถิติผู้เข้าร่วมงาน เพศ อาชีพ จำนวนผู้เข้าชมงาน หรือแม้กระทั่งตำแหน่งของผู้ร่วมงาน ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อผู้จัดงานอย่างมากในการวางแผนโปรโมทกิจกรรมต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์

Silent Event
Silent Event

เมื่อใดที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ผู้จัดงานหลายรายอาจทยอยกลับมาจัดงานในพื้นที่จริงกันอีกครั้ง แน่นอนว่ามาตรการรักษาระยะห่างอาจยังต้องอยู่กับพวกเราไปอีกสักพัก Sounds of Earth จึงกลายเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางเลือกสำหรับธุรกิจ MICE โดยพัฒนามาจากแนวคิดการจัดคอนเสิร์ตแบบ Silent Music ที่ไม่มีมลพิษทางเสียงไปรบกวนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิธีการของ Sounds of Earth จะใช้หูฟังไร้สายที่ให้เสียงคุณภาพสูงและสามารถรับสัญญาณเสียงได้ไกล 200-300 เมตร ทำให้ผู้ชมสามารถฟังคอนเสิร์ตหรือการเสวนาในคุณภาพเท่ากันจากทุกที่ไม่ว่าอยู่ใกล้หรือไกลเวที จึงช่วยแก้ปัญหาผู้ร่วมงานล้นห้องประชุมได้ และยังไม่มีเสียงกระหึ่มจากลำโพงไปรบกวนพื้นที่จัดงานข้างเคียงอีกด้วย

Crowd Management Technology
Crowd Management Technology

ในทางปฏิบัติแล้วการขอให้ผู้ร่วมงานรักษาระยะห่างเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ค่อนข้างยาก จึงมีนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้จัดงานควบคุมความหนาแน่นของผู้ร่วมงานได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่นการใช้เซนเซอร์เพื่อตรวจจับความร้อนในพื้นที่ แล้วนำข้อมูลมาประมวลและวิเคราะห์ผลเพื่อนำมาจัดทำเป็น Heat Map ทำให้การบริหารจัดการความหนาแน่นของผู้ร่วมงานแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือการใช้เทคโนโลยี RFID ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจับการเคลื่อนไหวด้วยการแสกนคลื่นความถี่สูงเพื่อติดตามและระบุตัวตนของผู้ร่วมงาน โดยผู้จัดงานสามารถเห็นข้อมูลความหนาแน่นของจำนวนผู้ชมในแต่ละเวที รวมทั้งสามารถดูเส้นทางการเคลื่อนที่ของผู้ชมว่าไปจุดใดมาบ้าง


Facebook: NIAAcademyTH

NIA MOOCs Tech Support