5 เทรนด์นวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวที่น่าจับตามองในยุค New Normal

ก่อนหน้านี้เราพึ่งพาเทคโนโลยีกันมากแค่ไหน วิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งเป็นตัวบังคับให้เราพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นไปยิ่งกว่าเดิม ไม่ว่าจะทั้งในการทำงาน การปฏิสัมพันธ์ รวมไปถึงการพักผ่อนและความบันเทิง


ในช่วงเวลาที่การเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงัก การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาและคลายความกังวลในเรื่องของมาตรการการรักษาระยะห่างและความปลอดภัย จะเป็นเสมือนตัวช่วยที่เข้ามาต่อลมหายใจให้ธุรกิจท่องเที่ยวยังคงไปต่อได้ในสถานการณ์นี้ หรือแม้แต่ในยามที่โรคระบาดจบลงแล้ว นวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะอยู่กับเราต่อไป และกลายเป็นประสบการณ์การท่องเที่ยววิถีใหม่ในอนาคต

มาดูกันว่า 5 TravelTech ที่จะเข้ามาปฏิวัติวงการการท่องเที่ยวมีอะไรบ้าง

เทคโนโลยีไร้สัมผัส – Contactless Tech

ในภาคการท่องเที่ยวและการโรงแรมมีการนำเทคโนโลยีไร้สัมผัสมาใช้อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนการระบาดโควิด 19 โรงแรมหลายแห่งลงทุนกับเทคโนโลยีการสั่งงานด้วยเสียงในลิฟต์หรือในห้องพัก หรือการใช้ Digital key ในการปลดล็อกห้องพักผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อมอบบริการที่สะดวกสบายเหนือระดับให้กับลูกค้า รวมถึงการใช้เซนเซอร์สั่งการแทนการสัมผัส RFID NFC การจดจำใบหน้า การยืนยันตัวบุคคลด้วยไบโอเมตริก แต่ในปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีไร้สัมผัสเช่นนี้ได้พัฒนามิติใหม่เพิ่มเข้ามา ที่ไม่เพียงแต่สะดวกสบายและเป็นไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย แต่ยังเป็นการสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะอยู่ในโรงแรม สนามบิน หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

แรงงานดิจิทัล – Digital Workforce

แรงงานดิจิทัลจะเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้พนักงานหุ่นยนต์เพื่อคอยอำนวยความสะดวกในการให้บริการถึงหน้าประตูห้องพัก ในภัตตาคาร หรือในสนามบิน รวมไปถึงการใช้ Bot ในการพูดคุยโต้ตอบกับลูกค้าสำหรับคำถามที่ถูกถามบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามเกี่ยวกับความกังวลในความปลอดภัยและความเสี่ยงต่อโรคระบาดที่จะมีเข้ามาในปริมาณมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของพนักงานตัวจริงได้มากทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้แรงงานดิจิทัลจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในวิกฤตโรคระบาดได้ แต่ความโหยหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หลังจากต้องเจอกับการล็อคดาวน์กันเป็นปี ๆ ก็ยังเป็นโจทย์ที่หุ่นยนต์ยังไม่สามารถตอบสนองได้เต็มที่ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนสำคัญที่แรงงานดิจิทัลจะต้องพัฒนาต่อไป เพื่อเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ให้ใกล้เคียงมนุษย์ได้มากที่สุด

พาสปอร์ตดิจิทัล - Digital ID

รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศกำลังพิจารณาการใช้วัคซีนพาสปอร์ตในรูปแบบดิจิทัลเพื่อใช้ในการเดินทางไปยังต่างประเทศ รวมไปถึงใช้ยืนยันประวัติการฉีดวัคซีนของผู้ที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณชนต่าง ๆ เช่น คอนเสิร์ต สระว่ายน้ำ โรงภาพยนตร์ แน่นอนว่านวัตกรรมการยืนยันตัวตนดิจิทัลนี้จะไม่ได้มีประโยชน์สำหรับการควบคุมโรคระบาดเท่านั้น ในอนาคตการพัฒนาพาสปอร์ตดิจิทัลจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้เดินทางสามารถควบคุมการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวได้ด้วยตัวเอง โดยเลือกได้ว่าจะแสดงข้อมูลใดให้ใครดูได้บ้าง ซึ่งจะลดโอกาสการเกิดอาชญากรรมไซเบอร์ได้มากขึ้นด้วย

แพลตฟอร์มวางแผนท่องเที่ยว - Tour management platforms

ปีที่แล้วตอนที่เรายังตั้งตัวกันไม่ติด หลายคนอาจวุ่นวายกับการยกเลิกโรงแรม เปลี่ยนเที่ยวบิน เพราะเปลี่ยนแผนกระทันหันจากมาตรการห้ามบินระหว่างประเทศ หลังจากโรคระบาดผ่านพ้นไป สิ่งที่นักท่องเที่ยวในอนาคตจะคาดหวังคือการวางแผนการเดินทางที่ยืดหยุ่นและปรับให้เข้ากับความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น แพลตฟอร์มช่วยวางแผนการท่องเที่ยวจึงเข้ามาตอบโจทย์นี้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ แอพลิเคชั่น หรือแม้กระทั่งระบบนำทางอัจฉริยะในรถยนต์ โดยมีหัวใจอยู่ที่การเชื่อมโยงฐานข้อมูลเอเจนซี่ทัวร์ โรงแรม และการเดินทางเข้าไว้ด้วยกัน เอื้อให้นักท่องเที่ยวสามารถออกแบบแผนการท่องเที่ยวของตัวเองแบบ Multi-stops ได้ดังใจแบบไร้รอยต่อ

ประสบการณ์ทางเลือก - Alternative experiences

ในช่วงล็อคดาวน์เราจะเห็นได้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ แกลอรี่ คอนเสิร์ต ต่างมีการนำเทคโนโลยีเสมือนจริงเข้ามาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ทางเลือกให้ผู้ชมดื่มด่ำได้จากที่บ้าน การท่องเที่ยวเช่นนี้ ไม่ต้องคำนึงถึงตั๋วเครื่องบิน ความปลอดในการเดินทาง สภาพอากาศ รวมไปถึงค่าใช้จ่าย จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเดินทางไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย รวมถึงคนที่ไม่มีงบมากพอจะท่องเที่ยวต่างประเทศได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์แบบใกล้เคียงได้เช่นกัน

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็สามารถพลิกวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ให้เป็นโอกาส โดยการนำนวัตกรรมสำหรับการสร้างประสบการณ์ทางเลือกมาใช้ในการโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอยากมาเห็นด้วยตาตัวเองเมื่อมีการเปิดให้เดินทางเสรีในอนาคต ตัวอย่างเช่น แคมเปญการท่องเที่ยวทางไกลของหมู่เกาะฟาโร ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนจากทั่วโลกสำรวจเกาะผ่านสายตาของคนท้องถิ่นแบบเรียลไทม์ โดยมีไกด์ท้องถิ่นที่ติดกล้องไว้กับตัวทำหน้าที่พาชมเกาะ โดยที่ผู้ชมสามารถควบคุมการเดินและการวิ่งของไกด์ได้ผ่านหน้าจอของตัวเอง

NIA MOOCs Tech Support