7 นวัตกรรมเพื่ออนาคตหลัง COVID-19
'นวัตกรรม' อาจกลายมาเป็น 'ความหวัง' ที่จะช่วยให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้สำเร็จ
7 นวัตกรรมเพื่ออนาคตหลัง COVID-19
ทำความรู้จักนวัตกรรมใน 7 มิติ ความหวังใหม่ของประเทศไทยในการก้าวพ้นวิกฤต COVID-19
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “นวัตกรรม” ที่หมายถึง “สิ่งที่คิดค้นขึ้นใหม่” หากว่าตามทฤษฎีแล้ว อาจเป็นเทคโนโลยี ความคิด หรือผลิตภัณฑ์ก็ได้ แต่หัวใจสำคัญคือ สิ่งที่คิดขึ้นมาใหม่นั้นจะต้องสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ประเทศกำลังพบกับวิกฤตที่ถาโถมเข้ามามากมาย ‘นวัตกรรม’ อาจกลายมาเป็น ‘ความหวัง’ ที่จะช่วยให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้สำเร็จ
สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ผลักให้ทุกคนต้องเข้าสู่สังคมวิถีใหม่ในสภาวะจำยอม ซึ่งคาดว่าจะอยู่กับเราไปอีกหลายปีทีเดียว วิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันนี้ส่งผลให้โลกต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงรุนแรง 3 ด้านใหญ่ ๆ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น การแข่งขันทางธุรกิจรูปแบบใหม่ และปัญหาภาวะโลกร้อน
ปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่เราทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยง ทางออกที่เป็นไปได้จึงเป็นการเผชิญหน้ารับมือกับปัญหา ด้วยการเร่งสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ใน 7 มิติ ที่จะช่วยให้เราพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงท่ามกลางวิกฤตนี้ได้

นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ (Business Model Innovation)
เราเคยคิดหรือตั้งคำถามกันไหมว่าโลกหลังยุคเศรษฐกิจดิจิทัล หรือหลังยุคโควิด 19 จะเปลี่ยนแปลง หรือมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ซึ่งสาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยนั้นก็คงเกิดจากการผลัดเปลี่ยนของยุคสมัย เทคโนยีที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจะเห็นได้ว่านวัตกรรมโมเดลธุรกิจนั้นมีส่วนและมีความสำคัญมาก สำหรับบริษัท หรือผู้ประกอบการในด้านต่างๆที่ต้องการเติบโต ต้องการแหล่งเงินทุน และก็ต้องการตลาด นวัตกรรมโมเดลธุรกิจจะเป็นส่วนที่จะเข้ามาช่วยและเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมให้เกิดแรงขับเคลื่อนใหม่ๆทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ตัวอย่างเช่น Flash ธุรกิจบริการขนส่งที่ปรับรูปแบบธุรกิจให้มีความแตกต่างจากเจ้าอื่นๆ โดยไม่เน้นการเปิดสาขา แต่เปลี่ยนเป็นการทำ “สาขาเคลื่อนที่” ด้วยการส่งคนขับไปรับของถึงหน้าบ้านลูกค้า และให้บริการ 24 ชั่วโมง ด้วยรูปแบบธุรกิจที่แปลกใหม่ทำให้ Flash กลายมาเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่แม้จะเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจบริการขนส่งได้เพียงแค่ 3 ปี แต่สามารถเติบโตจนก้าวเป็นว่าที่สตาร์ทอัพยูนิคอร์นเจ้าแรกของไทย

นวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-based innovation)
เป็นการนําเอาทรัพยากรและศักยภาพของพื้นที่มาใช้เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่นั้นๆ โดยมีการพัฒนาระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมในภูมิภาค เช่น ห้องแล็บ ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม อุทยานวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับประชาสังคมและเอกชนที่มีส่วนร่วมต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมทั้งในระดับภูมิภาค ระดับเมือง และระดับย่าน
นวัตกรรมเชิงพื้นที่ที่เข้มแข็งจะสร้างโอกาสในการขยายผลนวัตกรรมไปสู่วงกว้าง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมและนวัตกรรุ่นใหม่สามารถสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ตัวเองได้ เช่น ย่านนวัตกรรมปุณวิถี ที่ได้ยกระดับเป็นศูนย์กลางสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล จากความร่วมมือจากภาคเอกชนในการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย รองรับทั้งผู้ประกอบการในประเทศ บริษัทข้ามชาติ และนักลงทุนต่าง ๆ

นวัตกรรมสังคม (Social Innovation)
นวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อแก้ไขหรือตอบสนองปัญหาทางสังคม โดยไม่ได้มุ่งเน้นกำไรสูงสุด แต่ต้องเป็นนวัตกรรมที่ตรงตามความต้องการของสังคม สามารถแพร่กระจายสู่วงกว้างได้ และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมได้จริงเพื่อสร้างสมดุลของการพัฒนาให้ครบทุกภาคส่วนเติบโตไปด้วยกัน ด้วยการคำนึงถึงผลกระทบทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ กำไร คน และสิ่งแวดล้อม เช่น สตาร์ทอัฟ Locall แพลตฟอร์มออนไลน์ของกลุ่มเครือข่ายร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด Locall เป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ซึ่งมีรูปแบบธุรกิจโฮสเทลย่านประตูผีพร้อมกับมีร้านคาเฟ่ที่ชื่อ RISE CAFÉ เพื่อกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน แต่ในช่วงโควิดธุรกิจโรงแรมต้องปิดให้บริการลง จึงต้องปรับตัวมาเป็นการส่งอาหารที่โรงแรมทำเป็นทางเดลิเวอรี่ ช่วงนั้นบริษัทได้เห็นหลายร้านในระแวกนั้นได้รับผลกระทบ หลายร้านเป็นร้านเก่าแก่และไม่เคยเข้าสู่แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ผู้ประกอบการเป็นคนรุ่นเก่าซึ่งไม่เข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงเป็นที่มาของการรวบรวมเพื่อนธุรกิจเพื่อช่วยโปรโมทให้เข้าสู่เดลิเวอรี่ จึงเป็นที่มาของ Locall.bkk โดยเริ่มที่ line เพื่อโปรโมทร้านอาหารในละแวกดังกล่าว โดยจะรวมการสั่งไปส่งที่บ้าน และรูปแบบการขายที่มีการผูกปิ่นโตด้วย ซึ่ง Locall ได้รับผลการตอบรับที่ดี เป็นการช่วยผู้ประกอบการในย่านดังกล่าวให้มีรายได้ โดยแพลตฟอร์มไม่หวังกำไรในการบริหารจัดการมากนัก

นวัตกรรมภาครัฐ (Public-sector innovation)
ภาครัฐคือภาคส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัล นวัตกรรมภาครัฐจึงเป็นการนำแนวคิดหรือวิธีการรูปแบบใหม่ ๆ มาใช้ในการดำเนินงานหรือการให้บริการของภาครัฐ เพื่อให้รัฐสามารถตอบสนองความคาดหวังและความต้องการใหม่ๆ ของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำระบบ e-government ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้สะดวกรวดเร็ว และลดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชนให้แคบลง ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ศูนย์กลางบริการประชาชนในการติดต่อราชการแบบครบวงจร ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนไทยทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับรัฐ ตรวจสอบสิทธิ จ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ หรือติดตามสถานะการขอใช้บริการจากภาครัฐได้ในช่องทางเดียว ช่วยลดภาระในการเดินทางของประชาชน และช่วยให้ประชาชนไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำซ้อนในหลาย ๆ แอป

นวัตกรรมขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven innovation)
ในยุค Data Economy หรือยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล นวัตกรรมที่มาแรงมากที่สุดคือนวัตกรรมที่พึ่งพาฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจ การประเมินการตัดสินใจ การพยากรณ์และคาดการณ์สภาวะต่างๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้บริโภค เหมือนอย่างที่ร้านค้าออนไลน์ใช้ข้อมูลพฤติกรรมการคลิกดูสินค้าบนเว็บไซต์ เพื่อนำมาใช้ในการยิงโฆษณาให้ตรงจุดราวกับรู้ใจผู้บริโภค หรือตัวอย่างจาก ZipEvent แอปพลิเคชันรวบรวมอีเวนต์และงานแสดงสินค้าทั่วเอเชีย ที่มีระบบแจ้งเตือนอีเวนต์ที่ตรงตามความสนใจของผู้ใช้แต่ละคน และมีระบบเก็บข้อมูลที่ช่วยให้ผู้จัดงานได้รับฟีดแบ็กจากผู้เข้าร่วมเพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการจัดงานครั้งต่อ ๆ ไป

นวัตกรรมกรอบความคิด (Paradigm innovation)
การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วิถีชีวิต หรือความคุ้นชินแบบเดิมๆ ของมนุษย์ ด้วยการสร้างสิ่งใหม่ที่สังคมไม่คาดว่าจะสร้างให้เกิดขึ้นมาได้ เช่น สังคมไร้เงินสด การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ หรือ FinTech ที่เปลี่ยนการจัดการการเงินรูปแบบเดิมให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ วิกฤตโรคระบาดที่บังคับให้เราต้องปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตไปโดยปริยาย ก็ทำให้เกิดนวัตกรรมที่เข้ามาเพื่อรองรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ด้วย เช่น Zoom และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ ที่เติบโตขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในช่วงล็อคดาวน์

นวัตกรรมศาสตร์และศิลป์ (Aesthetic innovation)
การอาศัยจุดเด่นด้าน soft power ของประเทศไทย เช่นวัฒนธรรม ประเพณี ดนตรี ศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ มาผสมผสานกับเทคโนโลยีเพือสร้างประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่าง ในการเสพความบันเทิงบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงผ่านมิวสิคสตรีมมิ่ง, การจองตั๋วคอนเสิร์ตผ่านแอปพลิเคชั่นอีเวนต์ การแข่งขันเล่นเกมออนไลน์ในรูปแบบ อี-สปอร์ต ฯลฯ ขณะเดียวกันยังช่วยให้เจ้าของงานหรือเจ้าของแพลตฟอร์มสามารถ ทำคอนเทนต์สำหรับการจัดงานอีเวนต์ งานนิทรรศการ ตลอดจนกิจกรรมไลฟ์สไตล์ ให้ตอบโจทย์ผู้คนในปัจจุบันได้มากขึ้นด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ