ขอนแก่นโมเดล

นวัตกรรมการพัฒนาเมืองในฝัน ที่ผลักดันโดยคนท้องถิ่นด้วยกันเอง

เมืองทุกเมืองล้วนมีปัญหา แต่ใครล่ะที่จะลุกขึ้นมาแก้ไข
สำหรับชาวขอนแก่น ปัญหาในบ้านของพวกเขาคือสิ่งที่รอไม่ได้ เมื่องบประมาณจากส่วนกลางยังมีวี่แววว่าจะต้องรอต่อไป ก็ต้องเป็นพวกเขาเองนี่แหละ ที่ลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตัวเอง

ขอนแก่นมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ อีกทั้งยังอยู่ตรงกลางของภาคอีสาน ทำให้กลายเป็นเมืองศูนย์กลางในหลาย ๆ มิติ แต่การที่เมืองเติบโตอย่างรวดเร็วก็ทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษ ขนส่งมวลชน และความเหลื่อมล้ำในสังคม

ก่อนที่เมืองจะโตไปแบบไร้ทิศทาง ภาคเอกชนและราชการส่วนท้องถิ่นของขอนแก่นจึงลุกขึ้นมาเอาจริงเอาจัง ในการวางแผนพัฒนาเมืองโดยไม่ต้องรอใคร พร้อมกับใช้จุดแข็งเชิงพื้นที่ในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และแหล่งรวมสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ เพื่อผลักดันนวัตกรรมและผลงานวิชาการในด้านต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับโมเดลพัฒนาเมืองที่เรียกว่า “ขอนแก่นโมเดล” ได้สำเร็จ

มาถึงตอนนี้โครงการต่าง ๆ เริ่มสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างไปบ้างแล้ว เราไปดูกันดีกว่าว่าขอนแก่นในวันนี้เปลี่ยนโฉมอะไรไปแล้วบ้าง

Smart Mobility
Smart Mobility

คนกรุงเทพคงได้แต่มองตาปริบ ๆ กันเลยทีเดียว เมื่อขอนแก่นวางแผนยกเครื่องระบบคมนาคมในจังหวัดครั้งใหญ่ ก่อนที่การจราจรของเมืองจะยุ่งเหยิงเกินแก้ไข โดยโครงการที่เป็นพูดถึงมากที่สุดก็คือ ระบบรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งถือเป็นรถไฟฟ้ารางเบาแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมเส้นทางทั้งหมด 5 สาย พาดผ่านพื้นที่สำคัญอย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น พื้นที่พาณิชย์ และสถานที่ราชการ

หากระบบรถไฟฟ้ารางเบาสร้างเสร็จแล้ว คาดว่าจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้กว่า 40,000 คน และยังช่วยลดการปล่อยมลภาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวและแหล่งเรียนรู้อย่างพิพิธภัณฑ์ให้กับคนในจังหวัดอีกด้วย

แผนการของขอนแก่นไม่ได้มีเพียงแค่นี้ แต่ยังให้ความสำคัญกับการคมนาคมภายในเมืองเช่นกัน โดยมีทั้งโครงการพัฒนาการเชื่อมต่อรอบบึงแก่นนครด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ‘รถแทรมน้อย’ ซึ่งได้รับมอบมาจากญี่ปุ่น รวมถึงโครงการขอนแก่นซิตี้บัส ที่ให้บริการจาก บขส.3 และสนามบิน วิ่งเป็นเส้นทางวงกลมรอบเมือง บนรถบัสมีการให้บริการ WIFi กล้องวงจรปิด พร้อมทั้งยังแอพพลิเคชั่นในการติดตามตำแหน่งของรถอีกด้วย บริการทันสมัยขนาดนี้แต่คิดค่าโดยสารประชาชนทั่วไปเพียงแค่ 15 บาทตลอดสายเท่านั้น

Smart Living
Smart Living

โครงการ Khon Kaen Smart Health เป็นโครงการจากความร่วมมือของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้ให้บริการสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยในขอนแก่น เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมารองรับการพัฒนางานสาธารณสุขในจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ ทั้งแผนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อทำให้การแบ่งปันข้อมูลทางการแพทย์ระหว่างภาครัฐและเอกชนสามารถทำได้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น และการพัฒนารถพยาบาลอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยีการประชุมทางไกล IoT และเทคโนโลยีโรโบติกส์ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยเบื้องต้น หรือเริ่มรักษาฉุกเฉินได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล

และที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วก็คือ สายรัดข้อมืออัจฉริยะ ซึ่งได้เริ่มใช้กับผู้สูงอายุในขอนแก่นแล้ว 500 ราย ช่วยให้ผู้สูงอายุรับทราบข้อมูลสุขภาพของตนแบบเรียลไทม์ เช่น การออกกำลังกาย การนอนหลับ ความดันโลหิต นอกจากนี้ยังมีระบบหลังบ้านที่เชื่อมต่อกับศูนย์สั่งการอัจฉริยะอุบัติเหตุฉุกเฉิน (IOC) ของโรงพยาบาลขอนแก่น ที่สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ของผู้สวมใส่ ทำให้หน่วยฉุกเฉินสามารถเข้าถึงผู้สูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ความสำเร็จของโครงการ Khon Kaen Smart Health ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะไปคว้ารางวัลมาแล้วในการประกาศรางวัล IDC Smart City Asia Pacific (SCAPA) ประจำปี 2561

Smart Energy
Smart Energy

คงจะดีไม่น้อยหากเราไม่ต้องเสียค่าไฟอีกต่อไป เพราะอาคารบ้านเรือนผลิตไฟฟ้าเองได้ เรื่องนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้

อาคารสำนักงานของกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นอาคารแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนี้ ที่ริเริ่มแนวคิดอาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) โดยมีหลักการคือ ปริมาณไฟฟ้าภายนอกที่นำมาใช้ เมื่อหักลบกับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้เองแล้ว การคำนวณไฟฟ้าในแต่ละรอบปีต้องมีค่าเท่ากับศูนย์ ซึ่งเลขศูนย์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเทคโนโลยีประหยัดพลังงานในอาคาร และอาคารต้องสร้างพลังงานเพิ่มขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง

หลังจากนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงและยกเครื่องอาคารใหม่ตามแผนแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้คือมีการใช้พลังงานในอาคารลดลงถึง 40% อีกทั้งพลังงานที่ใช้จริงประมาณ 60% ยังได้มาจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเบื้องต้นอาคารสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ประมาณ 28,000 หน่วย/ปี เฉลี่ย 80 หน่วย/วัน หรือมีการผลิตไฟฟ้าได้เกินกว่าปริมาณการใช้งานประมาณ 8% เลยทีเดียว

Smart Environment
Smart Environment

ถือเป็นการลงทุนครั้งเดียวได้ประโยชน์สองทางจริง ๆ สำหรับการสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะระบบปิดที่ถือเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของจังหวัดขอนแก่น มีศักยภาพในการกำจัดขยะได้ถึง 450-600 ตันต่อวัน สามารถเคลียร์ขยะใหม่รายวันได้สบาย ๆ และหากใช้เตาเผาแบบเต็มศักยภาพก็จะสามารถกำจัดขยะเก่าสะสมในจังหวัดขอนแก่นให้หมดไปได้ภายใน 7 ปี

นวัตกรรมที่ใช้เป็นเทคโนโลยีแบบเผาตรง ใช้อุณหภูมิสูงถึง 850 – 1,050 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ความร้อนที่ได้ยังสามารถนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งขายการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ด้วย
นอกจากจะกำจัดขยะไปพร้อมกับปั่นกระแสไฟฟ้าแล้ว ที่นี่ยังมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มาตรฐาน และคิดรอบคอบไปถึงชุมชนรอบข้าง โดยมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องชุมชนบริเวณโดยรอบอีกด้วย

Smart Governance
Smart Governance

จังหวัดขอนแก่นและเทศบาลนครขอนแก่นร่วมมือกันพัฒนาระบบ E-government ขึ้นมาใช้เอง ในชื่อว่า Electronic Provincial Administration Meeting หรือ EPAM ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการบริหารจัดการการประชุมประจำเดือนหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประชุม ช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดิน และลดระยะเวลาที่ใช้ในการประชุมให้สั้นลงได้อีกด้วย

ผู้จัดประชุมสามารถทำนัดหมาย อัพโหลดเอกสารการประชุม ลงทะเบียนผู้เข้าร่วมประชุมได้ผ่านทางเว็บไซต์ ในส่วนผู้เข้าร่วมประชุมเองก็สามารถอ่านวาระการประชุมล่วงหน้าได้ผ่านทางแอปพลิเคชั่น และยังใช้เปิดอ่านในวันประชุมจริงได้ โดยที่ไม่ต้องพิมพ์เอกสารออกมาให้เปลืองกระดาษ ช่วยให้จังหวัดขอนแก่นลดปริมาณการใช้กระดาษในการประชุมได้เฉลี่ย 396,000 แผ่นต่อปีเลยทีเดียว

Smart Economy
Smart Economy

ขอนแก่นคือหนึ่งใน MICE City ที่น่าจับตามอง จากข้อได้เปรียบในเรื่องของสถานที่ตั้งและการเดินทางที่เชื่อมต่อได้หลายประเทศ ยิ่งเมื่อมีการพัฒนาสาธารณูปโภครองรับธุรกิจ MICE ก็ยิ่งทำให้ขอนแก่นกลายมาเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นนอกจากกรุงเทพ อย่างเช่นการสร้างประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE) ซึ่งมีพื้นที่กว่า 7,500 ตร. และจุผู้ชมได้กว่า 10,000 คน สามารถรองรับการจัดงานแสดงสินค้า งานประชุมสัมมนาประจำปีขนาดใหญ่ ไปจนถึงคอนเสิร์ตระดับนานาชาติได้แบบสบาย ๆ

นอกจากการพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภายนอกแล้ว ขอนแก่นยังมีการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน โดยการพลิกโฉมย่านเก่าอย่างศรีจันทร์ซอดแจ้งให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์ (Creative District) ในชื่อ “ศรีจันทร์ซอดแจ้ง Walking Street” เป็นการเปิดพื้นที่เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์และกระตุ้นไอเดียธุรกิจของคนรุ่นใหม่ และเศรษฐกิจในชุมชนให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง


ติดตามข้อมูลข่าวสาร และคอร์สที่น่าสนใจทางด้านนวัตกรรมโดย NIA Academy ได้ที่ Facebook: NIAAcademyTH

NIA MOOCs Tech Support