โมเดลสตาร์ทอัพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในเอเชีย

“เศรษฐกิจฐานราก” คำนี้ไม่ใช่คำใหม่ในประเทศไทย เพราะมันอยู่ใน 12 นโยบายประชารัฐที่มีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้ประชาชนมีความสุขและมีรายได้เพิ่มขึ้น

แน่นอนว่าในยุคที่สตาร์ทอัพผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ใคร ๆ ก็ต้องมุ่งหวังที่จะสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำให้คุ้มค่ากับการลงทุน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ยังมีสตาร์ทอัพอีกจำนวนไม่น้อย ที่คิดโมเดลธุรกิจขึ้นมาเพื่อมุ่งสร้างรายได้ที่ไม่ได้เข้าแค่กระเป๋าตัวเอง แต่ยังกระจายไปหาคนในท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นสะพานที่เชื่อมชุมชนและคนตัวเล็ก ๆ ให้สามารถเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้คึกคักไปพร้อม ๆ กัน

มาดูกันว่าในประเทศของเราและประเทศข้างเคียง มีโมเดลสตาร์ทอัพอะไรน่าสนใจบ้าง

Local Alike
Local Alike

ประเทศไทยมีรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทว่าเม็ดเงินเหล่านี้มักไปหยุดอยู่ที่โรงแรมและบริษัทท่องเที่ยว จนไม่เหลือมาถึงมือคนท้องถิ่น อีกทั้งการมาเที่ยวแต่ละครั้งก็ยังทำให้ทรัพยากรและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นถูกทำลาย การพัฒนาการท่องเที่ยวแต่เพียงด้านเดียวจึงกลายเป็นการสร้างผลเสียให้กับคนท้องถิ่นมากกว่าช่วยเหลือ

กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่าง Local Alike จึงเข้ามาแก้ไขตรงจุดนี้ ด้วยการพัฒนาแผนการท่องเที่ยวร่วมกับคนในชุมชน และสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อมต่อกับนักท่องเที่ยวได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านธุรกิจรายใหญ่อย่างโรงแรมหรือบริษัททัวร์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมชุมชน เมื่อนักท่องเที่ยวเข้าไปในเว็บไซต์ ก็สามารถเลือกได้เองเลยว่าอย่างสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่นกับชาวบ้านในรูปแบบไหน ซึ่งแน่นอนว่าทุกทริปให้ผลตอบแทนแก่ชุมชนอย่างเป็นธรรม เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวเป็นมากกว่านักท่องเที่ยว แต่กลายเป็นผู้ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เศรษฐกิจชุมชนพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง

GO-JEK
GO-JEK

ชื่อ GO-JEK มาจากคำว่า 'Ojek' หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างซึ่งพบได้ทั่วไปในอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพยูนิคอร์นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2553 เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในเมืองจาการ์ตา โดยเปิดตัวเป็นธุรกิจคอลเซ็นเตอร์สำหรับเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แรกเริ่มก่อตั้งมีคนขับมอเตอร์ไซค์เพียง 20 คน

จากนั้น โมเดลธุรกิจของ GO-JEK ได้พัฒนาให้ครอบคลุมบริการต่างๆ มากขึ้น และได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของอินโดนีเซีย และส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนขับ GO-JEK ให้ดีขึ้น จนกลายมาเป็น “ซูเปอร์แอพ” แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการกว่า 20 บริการไว้ในแอพเดียว เชื่อมต่อคนขับพาร์ทเนอร์กว่า 20 ล้านคน ร้านอาหารพาร์ทเนอร์กว่า 400,000 ร้าน และผู้ให้บริการด้านไลฟ์สไตล์ กว่า 60,000 ราย ปัจจุบัน Gojek มีจำนวนยอดดาวน์โหลดรวมทั่วทั้งภูมิภาคกว่า 130 ล้านครั้ง ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจฐานรากของอินโดนีเซียคึกคักยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

แน่นอนว่าความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด ก็คือรายได้ที่ตกไปถึงกลุ่มคนขับจริง ๆ รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนขับ GO-JEK อยู่ที่ 4.2 ล้านรูเปียห์ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจาก 3.3 ล้านรูเปียห์ก่อนคนขับจะเข้าร่วม GO-JEK

PAWNHERO
PAWNHERO

69% ของชาวฟิลิปปินส์ไม่มีบัญชีธนาคาร อีกทั้ง 90% ของชาวฟิลิปปินส์มีรายได้ไม่ถึง 300 บาทต่อวัน จึงเป็นเรื่องยากทีเดียวที่เศรษฐกิจระดับท้องถิ่นจะหมุนไปได้ในแต่ละวัน เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับประชาชนระดับรากหญ้า โรงรับจำนำจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฟิลิปปินส์

แต่โรงรับจำนำแบบเดิม ๆ ก็ยังไม่สะดวกรวดเร็วเพียงพอ PawnHero จึงเข้ามาอุดช่องโหว่ตรงนี้ ด้วยการเป็นสตาร์ทอัพโรงรับจำนำออนไลน์แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีภารกิจคือการให้บริการทางการเงินที่สะดวกและน่าเชื่อถือที่สุดแก่ชาวฟิลิปปินส์ทุกคนที่ต้องการสินเชื่อเงินสดด่วนแม้จะไม่มีบัญชีธนาคารหรือเข้าถึงเครดิต

วิธีที่รวดเร็วและปลอดภัยที่สุด สามารถทำได้ด้วยการกรอกรายละเอียดของมีค่าที่จะจำนำผ่านทางเว็บไซต์ แล้วลงตารางนัดหมายให้คนขับที่ได้รับการรับรองจากบริษัทมารับสิ่งของถึงที่ จากนั้นรอพิจารณาสินเชื่อภายใน 1 วัน แล้วก็ไปถอนเงินจากธนาคารหรือผู้ให้บริการที่เป็นพาร์ทเนอร์ได้เลย โมเดลธุรกิจโรงจำนำออนไลน์แบบนี้ปลอดภัยกว่าวิธีการเดิม ๆ ที่คนต้องถือของมีค่าออกไปตามร้านข้างถนนเพื่อหาทางแลกเป็นเงินสด โดยปัจจุบัน PawnHero มีผู้ใช้อยู่ในระบบมากถึง 40 ล้านคน

Kheyti
Kheyti

อินเดียมีเกษตรกรมากกว่า 120 ล้านคน แต่ละปีจะประสบปัญหาภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายกับผลผลิต ทำให้เกษตรกรขาดรายได้ แล้วยังเป็นหนี้ จนมีชาวนาฆ่าตัวตายไปกว่า 8,000 รายในปี 2015 ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมีต้นตอมาจากปัญหาทางการเงินทั้งสิ้น

เทคสตาร์ทอัพอย่าง Kheyti จึงเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เกิดเป็นไอเดียนวัตกรรมโรงเรือนต้นทุนต่ำที่มีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มีขนาดเล็กเพียงครึ่งหนึ่งของสนามบาสเกตบอลจึงเอาไปวางไว้ในฟาร์มขนาดเล็กได้สบาย ๆ ม่านตาข่ายของ Kheyti ยังช่วยลดแมลงและศัตรูพืชได้ถึง 90% นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีระบบน้ำหยดที่ช่วยลดอุณหภูมิภายในได้ถึง 5-8 องศาเซลเซียส และลดต้นทุนการใช้น้ำได้มากถึง 90% ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 7 เท่า

Kheyti ยังแก้ปัญหาเรื่องเงินทุนที่มีจำกัด ด้วยการร่วมมือกับธนาคารให้เกษตรกรสามารถผ่อนจ่ายได้เป็นงวดๆ อีกทั้งยังรับประกันรายได้ให้กับเกษตรกร หากความผิดพลาดของระบบโรงเรือนทำให้ผลผลิตในปีนั้น ๆ ไม่เป็นไปตามคาด ด้วยจุดเด่นของโรงเรือนที่ราคาไม่แพง และใช้งานได้จริงกับบริบทฟาร์มในอินเดีย ทำให้โรงเรือนของ Kheyti ได้รับรางวัลการแข่งขันนวัตกรรมของ Global Social Venture Competition 2017


Facebook: NIAAcademyTH

NIA MOOCs Tech Support