NFT Arts

พลิกวงการศิลปะและของสะสมด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งอนาคต

ท่ามกลางกระแสความคึกคักในโลก Cryptocurrency หลายคนอาจกลายเป็นเศรษฐี ในขณะที่อีกหลายคนในตอนนี้ อาจกำลังนั่งเหงาหงอยอยู่บนดอยบิตคอยน์ก็เป็นได้

วันนี้เราเลยอยากจะมาชวนให้ไปทำความรู้จักกับเหรียญอีกประเภทหนึ่งที่ก็กำลังมาแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักสะสมกระเป๋าหนัก ที่พร้อมควักเงินจ่ายเพื่อผลงานดิจิทัลที่มีคุณค่าทางใจ สินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่นี้เรียกว่า NFT

มาดูกันดีกว่าว่า เหรียญ NFT ที่ช่วยเติมเต็มจิตใจและยังเติมตังในกระเป๋า แท้จริงแล้วคืออะไร ทำไมตลาด NFT ถึงดีดไปถึงหลักพันล้านบาท แล้ววงการไหนบ้างที่ NFT ไปเยือนมาแล้ว ไปดูกันเลย

Non-Fungible Token
Non-Fungible Token

Non-Fungible Token ชื่อนี้หมายถึงอะไร?

NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token ซึ่งหมายถึงเหรียญดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ใช้แทนความเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งมีความเฉพาะตัวและมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถทดแทน แลกเปลี่ยน หรือทำซ้ำได้

เทียบง่าย ๆ หากเรายืมเหรียญสิบของเพื่อนไป 1 เหรียญ เราจะคืนด้วยเหรียญสิบเหรียญไหนก็ได้ ขอให้มีมูลค่าเท่ากันเป็นอันว่าใช้ได้ แต่สำหรับเหรียญ NFT ที่ใช้แทนผลงานสร้างสรรค์ในเวอร์ชั่นดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพถ่าย เพลง วิดีโอ ฯลฯ หากเราซื้อเหรียญที่แทนผลงานชิ้นไหน มันก็จะมีเพียงชิ้นเดียวในโลก สิทธิ์ของการถือครองผลงานดิจิทัลชิ้นนั้น ๆ ก็จะเป็นของเราแต่เพียงผู้เดียว

เนื่องจากผลงานส่วนใหญ่ในตลาดเป็นของที่มีคุณค่าทางใจ ราคาจึงขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้ตลาด NFT บูมอย่างสุด ๆ โดยมูลค่าซื้อขายผลงาน NFT สูงสุดในประวัติการณ์ คือผลงานภาพถ่ายที่ชื่อว่า Everydays: The First 5000 Days โดยมีมูลค่าซื้อขายสูงถึง 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2 พันล้านบาท

แน่นอนว่าหากเอาชื่อภาพนี้ไปเสิร์ช คุณก็ยังสามารถดูและดาวน์โหลดภาพนี้มาเก็บไว้ในมือถือได้ แต่จะมีคนที่เป็นเจ้าของเหรียญ NFT เพียงคนเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าตัวเองเป็นเจ้าของตัวจริง นอกจากนี้การซื้อขายแต่ละครั้งจะถูกบันทึกไว้ด้วย Blockchain ทำให้มีความปลอดภัยสูงมาก อีกทั้งทุกคนในระบบสามารถรู้ได้ว่ากรรมสิทธิ์ของ NFT ชิ้นนั้นๆเป็นของใคร จึงเปรียบเสมือนกับการติดป้ายประกาศความภาคภูมิใจที่ทำให้โลกรับรู้  

NFT กับวงการศิลปะ
NFT กับวงการศิลปะ

จะมีสิ่งใดชุบชูใจคนได้ดีเท่าศิลปะ จึงไม่แปลกหากวงการศิลปะจะกลายมาเป็นวงการที่ NFT เฟื่องฟูมากที่สุดในตอนนี้ แม้แต่บริษัทประมูลผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง Sotheby’s ก็ยังขอก้าวมาลงตลาด NFT โดยล่าสุดได้เปิดประมูลผลงานศิลปะแบบ NFT ไปในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 วันของการเปิดประมูล มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาร่วมประมูลมากกว่า 3,000 ราย กวาดรายได้รวมทั้งหมดไปที่ราว 16.8 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 525 ล้านบาท

ในขณะที่วงการเพลงก็ไม่น้อยหน้า เมื่อศิลปินชื่อดัง The Weeknd เอาใจแฟนเพลงด้วยการประกาศว่าจะเปิดประมูลผลงานเพลง ‘Acephalous’ แบบ NFT ในระยะเวลาที่จำกัด โดย The Weeknd ก็ให้สัญญาไว้ด้วยว่า เขาจะไม่ปล่อยเพลงนี้ออกมาไม่ว่าจะในช่องทางใดๆ ก็ตามในอนาคต เพื่อให้สิทธิ์การครอบครองเพลงชิ้นนี้เอ็กซ์คลูซีฟสำหรับแฟนเพลงกระเป๋าหนักแต่เพียงผู้เดียว

หันกลับมาดูฝั่งไทยก็มีเช่นกัน บริษัทวิธิตากรุ๊ป จำกัด ได้เปิดขายปกนิตยสารการ์ตูน ‘ขายหัวเราะ’ เล่มแรกที่ตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2516 พร้อมลายเซ็น บก. วิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการของขายหัวเราะ ซึ่งมีนักสะสมซื้อภาพดิจิทัลนี้ไปแล้วในมูลค่า 17.3 ETH หรือ $34,492.74 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.06 ล้านบาท

NFT กับวงการเกม
NFT กับวงการเกม

เกมที่นำแนวคิดของ NFT มาใช้จนโด่งดังก็คงจะเป็นเกมไหนไปไม่ได้นอกจาก Cryptokitties ซึ่งเป็นเกมที่ให้ผู้เล่นสะสม NFT ในรูปแบบแมวสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถนำแมวมาจับคู่ผสมพันธุ์ เพื่อลุ้นให้ได้ลูกแมวที่มีหน้าตาและเอกลักษณ์แปลกใหม่ โดยแมวแต่ละตัวจะมีคุณสมบัติที่กำหนดด้วยรหัสพันธุกรรม 256 บิต ทำให้มีโอกาสผสมพันธุ์แมวสายพันธุ์ใหม่ได้ถึง 4 พันล้านแบบ เมื่อผสมไปผสมมาจนได้แมวที่น่าสนใจก็สามารถขายทำเงินได้อีกด้วย โดยราคาแมวหายากที่มีการซื้อขายกันตอนนี้มีราคาสูงถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทยราว 3 ล้านบาท

นอกจากนี้ NFT ยังนิยมใช้ในการซื้อขายไอเทมและจับจองที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดในเกมโลกเสมือนจริงอย่าง Axie Infinity, Somnium Space, The SandBox และ Decentraland ซึ่งที่ผ่านมารวมๆกันแล้วมีมูลค่าการซื้อขายที่ดินและไอเทมต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มเกมเหล่านี้รวมกันมากกว่า 2,600 ล้านบาทแล้ว จะบอกว่าการเล่นเกมคือเรื่องเล่น ๆ ก็คงจะไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว  

NFT กับวงการกีฬา
NFT กับวงการกีฬา

ของสะสมคือสิ่งที่แยกกันไม่ได้กับวงการกีฬา ล่าสุดในวงการบาสเกตบอล NBA ได้มีการออกขาย Top Shot ในรูปแบบ NFT ซึ่งเป็นช็อตเด็ดที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นท่าดังก์หรือการโยนลูกทำแต้ม เพื่อให้เหล่าแฟนคลับที่รักและชื่นชอบนักกีฬาได้มีสิทธิเป็นเจ้าของช่วงเวลาที่น่าประทับใจเหล่านี้แต่เพียงผู้เดียว อย่างช็อตที่เลอบรอน เจมส์ ทำสแลมดังก์ ก็ได้กลายเป็น NFT ที่มีมูลค่าสูงถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนทางฝั่งแฟนฟุตบอลก็มีการซื้อขาย NFT เหมือนกัน โดยเป็นการซื้อขายการ์ดนักฟุตบอลผ่านเกม Sorare ที่เหมือนกับการสุ่มการ์ดสะสมแบบกระดาษ ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนการ์ดสะสมมูลค่าสูงมาเป็นรูปแบบดิจิทัลอย่าง NFT ช่ก็วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักสะสม และเป็นการยืนยันว่าการ์ดแต่ละใบคือของแท้ และจะไม่มีการผลิตซ้ำอีกแน่นอน

ด้วยคุณสมบัติด้านความปลอดภัย และปลอมแปลงไม่ได้ ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจมีการนำเทคโนโลยี NFT ไปใช้กับการซื้อตั๋ว เพื่อหลีกเลี่ยงตั๋วผีได้อีกด้วย  

NFT กับวงการพระเครื่อง
NFT กับวงการพระเครื่อง

เป็นที่ฮือฮากันไปไม่นานมานี้ เมื่อแบรนด์ที่ชื่อว่า Crypto Amulets เปิดตัวพระเครื่องดิจิทัลครั้งแรกของโลก ที่นำรูปพระเครื่องแบบ 3D มาปล่อยขายแบบ NFT ให้เซียนพระเครื่องที่สนใจเทคโนโลยีบล็อกเชนได้มีโอกาสสะสม โดยมีชิ้นงานทั้งหมด 8000 NFT แต่ละชิ้นงานเป็นภาพหลวงปู่เฮง ปภาโส พร้อมยันต์ 8 แบบ ที่ให้คุณสมบัติที่แตกต่างกันไป

ความน่าสนใจอยู่ที่ แม้จะเป็นพระเครื่องดิจิทัล แต่ก็มีการปลุกเสกไม่ต่างจากพระเครื่องปกติ ทุกชิ้นผ่านพิธีปลุกเสกแล้วจากหลวงปู่เฮง ปภาโส เจ้าอาวาสวัดพัฒนาธรรมาราม จังหวัดสุรินทร์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งโชคลาภของแดนดินถิ่นอีสานใต้”

การซื้อขายจะเป็นแบบสุ่ม ผู้ซื้อไม่สามารถเลือกได้ว่าตนเองจะได้ยันต์แบบใดจนกว่าจะครบ 24 ชั่วโมงหลังหมดเวลาซื้อขาย นอกจากนี้ยังเพิ่มดีกรีความเอ็กซ์คลูซีฟเข้าไปอีก ด้วยการให้ผู้ซื้อผลงานหมายเลขแรกซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า และมีโอกาสสูงกว่าที่จะได้ชิ้นหายากจากคอลเล็กชันนี้ด้วย

สำหรับวงการที่มีเม็ดเงินสะพัดอย่างวงการพระเครื่อง การนำเทคโนโลยี NFT มาใช้ช่วยให้ผู้ซื้อไม่ว่าจะมือหนึ่งหรือมือสอง เกิดความมั่นใจได้ว่าวัตถุมงคลที่ตนครอบครองอยู่เป็นของแท้ และยังสามารถตรวจสอบเส้นทางผู้ที่ครอบครองพระเครื่องดิจิทัลก่อนหน้านี้ได้อย่างชัดเจน  


  Facebook: NIAAcademyTH

NIA MOOCs Tech Support