STEAM4INNOVATOR
STEAM4INNOVATOR
อยากเป็นนวัตกร อยากทำธุรกิจนวัตกรรม เราได้เรียนรู้อะไรจาก สตีมโฟร์อินโนเวเตอร์
เมื่อเอ่ยถึง “นวัตกร : นะ-วัด-ตะ-กอน” คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้จัก หรือมักนึกถึงคนที่ทันโลก ทันสมัย มีความฝัน มองถึงอนาคตข้างหน้าอย่างก้าวไกล ภาพจำเหล่านี้แทบทั้งหมดถูกสร้างขึ้นโดยนิยาย ละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน รวมไปถึงชีวิตจริงทั้งในและต่างประเทศ นวัตกร หรือ นักสร้างนวัตกรรม ไม่ได้ผูกขาดแค่ฝั่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี แต่คือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ต่อปัญหาที่เกิดใหม่ทุกวัน นวัตกร ไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะ ถ้ามีทักษะสำคัญ คือ คิด แก้ปัญหา ลงมือทำ และพยายามอดทนทำซ้ำ เพราะไม่มีนวัตกรรมไหนที่ไม่ได้มาจากการทดลองและความผิดพลาด
นวัตกรที่ดี
ในการที่จะเป็นนวัตกร ต้องมีทักษะลักษณะเฉพาะรวมไปถึงคุณลักษณะและคุณสมบัติที่ดีต้องมีการสร้างนวัตกรรมด้วย 5i ได้แก่ แรงบันดาลใจ (Inspiration) จินตนาการ (Imagination) ความคิดสร้างสรรค์ (Ideation) การบูรณาการ (Integration) การลงมือทำจริง (Implementation)
หลายคนคงอยากรู้จัก หรือมีคำถามว่า จริงๆ แล้วการที่เราจะเป็น “นวัตกร” นั้นมีความหมายว่าอย่างไร และมีกระบวนการอย่างไรที่จะทำให้พวกเราสามารถเป็นนวัตกร
คำตอบคือ ในการที่จะเป็นนวัตกร ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรจะมีหลักการที่ควรยึดถือเป็น Mind set โดยเริ่มจากต้องคิดไว้ว่าทุกอย่างมีความเป็นไปได้ ความคิดสร้างสรรค์จะก่อให้เกิดคุณค่าและเกิดประโยชน์กับสิ่งที่กำลังทำ
ต่อมาคือการเริ่มใหม่ ซึ่งการเริ่มใหม่เป็นสิ่งที่ท้าทายกับตัวเราให้สามารถไปอยู่ในจุดที่สูงสุดมีผู้คนยอมรับ แล้วให้กลับมาทบทวนความผิดพลาดนั้น ๆ หรือมีการบกพร่องในส่วนไหนก็ควรที่จะแก้ไข ปรับปรุง แล้วพร้อมที่จะพัฒนาให้มีประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งหากไม่ถูกทางตั้งแต่เริ่มต้น ปลายทางอาจมีผิดพลาดไป
เมื่อสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแล้ว ทีมหรือเพื่อนร่วมงานก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความสามารถของกันและกันได้ ความผิดพลาดจะไม่มีผลกระทบใด ๆ เมื่อเรามองว่าความผิดพลาดนั้นคือความสำเร็จ จงนำมาวิเคราะห์ เรียนรู้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์นั่นจะเป็นจุดสำเร็จในที่สุด
ทั้งนี้จงคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นก่อนประโยชน์ส่วนตัว หากเราเริ่มคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นย่อมจะช่วยให้นวัตกรรมนั้นได้รับความนิยมมากขึ้น สิ่งสุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การครอบคลุมองค์รวมให้เป็นกลาง ซึ่งในการคิดนวัตกรรมก็ควรคิดให้รอบคอบ ทั้งผลดีและผลเสีย แม้กระทั่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นโดยให้คิดอย่างเป็นกลางและไม่เข้าข้างตัวเอง
ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าศาสตร์แห่งการทำนวัตกรรมนั้นเป็นการทำงานและการปฏิบัติงานที่สนุกและน่าหลงไหลเอามาก ๆ คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถเรียนรู้กระบวนการสร้างนวัตกรรม
จุดเริ่มต้นของสตีมโฟว์อินโนเวเตอร์คืออะไร ?
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเยาวชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ที่จะเป็นกลไกการขับเคลื่อนคุณภาพและนวัตกรรมที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต จึงกำหนดแนวทางการจัดการเรียนรู้ สตีมโฟว์อินโนเวเตอร์ เพื่อให้เยาวชนได้ตระหนักถึงการเรียนรู้ที่สำคัญในมิติธุรกิจนวัตกรรม ด้วยการใช้พื้นฐานของคำว่า “STEAM” ซึ่งจะประกอบไปด้วย 5 องค์ความรู้ที่สำคัญจาก S = วิทยาศาสตร์ (Science), T = เทคโนโลยี (Technology), E = วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering), A = ศิลปศาสตร์ (Arts) และ M = คณิตศาสตร์ (Mathematics) เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้เรียนเกิดการตั้งคำถาม ความสนใจใคร่รู้ การพูดคุยสนทนา และ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยนำอักษรตัวแรกของการเรียนรู้แบบบูรณาการใน 5 วิชามาผสมกันตามลำดับข้างต้น เพื่อให้นำความคิดสร้างสรรค์และไอเดียที่แปลกใหม่มาปรับใช้ในการสร้างเครื่องมือหรือชิ้นงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อได้เรียนรู้กระบวนการทั้งห้าองค์ประกอบแล้ว มาถึงกระบวนการเรียนรู้ทั้ง 4 ขั้นตอนที่จะกล่าวถึงต่อไป
เรียนอะไรในสตีมโฟว์อินโนเวเตอร์
สตีมโฟว์อินโนเวเตอร์เป็นกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยใช้การวิเคราะห์หาปัญหาที่แท้จริง สามารถปรับเปลี่ยนเป็นโอกาสในการคิดสร้างสรรค์ และสร้างนวัตกรรมจากโจทย์หรือช่องว่างเล็ก ๆ ที่คนอื่นมองไม่เห็นได้ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
กระบวนการ สตีมโฟว์อินโนเวเตอร์ ที่เน้นด้านทฤษฎีและองค์ความรู้พื้นฐานที่สำคัญแล้ว นอกจากจะมีการเรียนทฤษฎีก็ยังมีการฝึกปฏิบัติ ฝึกคิดจากสถานการณ์จริง ซึ่งผู้ที่เรียนรู้กระบวนการนี้แล้วจะได้เทคนิคในการสร้างนวัตกรรม รวมถึงการสร้างชิ้นงานต่าง ๆ ผ่านกระบวนการที่สามารถนำไปปรับใช้ได้มีดังนี้
รู้ลึกรู้จริง / Insight
เป็นการหา Insight จากการสร้างความเข้าใจที่แท้ในปัญหาหรือสร้างโอกาสใหม่ ๆ จากแรงบันดาลใจและจากพื้นฐานความรู้ STEAM โดยมีส่วนสำคัญ 2 อย่างคือ 1) หากลุ่มเป้าหมาย 2) ระบุปัญหาหรือโอกาสชัดเจน ที่เป็นการเริ่มต้นสร้างนวัตกรรม
คิดสร้างสรรค์ไอเดีย / Wow! Idea
การหาความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการนำความคิดที่หลากหลายมาสังเคราะห์เป็น ความคิดรวบยอดที่สามารถจับต้องได้ และผ่านวิธีการคัดเลือกไอเดียนวัตกรรมสุดว้าว
แผนพัฒนาธุรกิจ / Business Model
Business Model เป็นการจับเอาความคิดและศักยภาพด้านการผลิตชิ้นงานตัวอย่าง มาบูรณาการเข้ากับมุมมองธุรกิจและการคิดวิเคราะห์ด้านการเงินการตลาดเพื่อพัฒนาแผนบริหารจัดการและเพิ่มความเป็นไปได้ทางธุรกิจ
การผลิตและการกระจาย / Production & Diffusion
Production and Diffusion การลงมือปฏิบัติอย่างมุ่งมั่นคิดจริงทำจริงขายจริงด้วยศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีการผลิตและด้านการบริหารธุรกิจเพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่ยังยืน
เสน่ห์ของสตีมโฟว์อินโนเวเตอร์
การสร้างแนวคิด “สร้างสรรค์” และการเรียนรู้ฝึกฝนกระบวนการสร้าง “นวัตกรรม” ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกระบวนการที่เป็นเจาะจงเฉพาะกลุ่ม หรือถูกออกแบบมาให้กับกลุ่มคนที่อยากริเริ่มเป็นนวัตกรอีกต่อไป สตีมโฟว์อินโนเวเตอร์ยังสามารถเข้าถึง จับต้องได้ และมีกระบวนการทางความคิดที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบัน
ทั้งนี้กระบวนการสร้างนวัตกรรม สตีมโฟว์อินโนเวเตอร์ ยังเป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ริเริ่มในการเป็นนวัตกร ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ เพื่อนำปัญหาต่าง ๆ มาแก้ไขได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนและตรงประเด็นแล้วว่าทำไมแนวคิด “สร้างสรรค์” กับการเรียนรู้การฝึกฝนกระบวนการสร้าง “นวัตกรรม” เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจของผู้คนมาจนถึงปัจจุบัน
ในบทถัดไปนั้นเราจะมาแนะนำ 10 เทคโนโลยีที่ฮอตที่สุด ในยุคศตวรรษที่ 21 ในปี 2020 โดยเว็บไซต์ Ideamotive ได้จัดอันดับเทคโนโลยีนวัตกรรมขึ้น และว่าด้วยความน่าสนใจผ่านกระบวนการทางความคิดสตีมโฟว์อินโนเวเตอร์มาดูกันว่าจะมีวิธีการนำไปใช้ให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างไรอยากให้ลองติดตามกันดูค่ะ