บรรจุภัณฑ์ทางเลือกใหม่ แก้ไขวิกฤตขยะล้นโลก
บรรจุภัณฑ์ทางเลือกใหม่ แก้ไขวิกฤตขยะล้นโลก
ในช่วงนี้ที่สถานการณ์โควิด19 ยังไม่สู้ดี หลาย ๆ คนเลือกที่จะเก็บตัวอยู่บ้านแล้วช้อปปิ้งสินค้าหรือสั่งอาหารออนไลน์แทน ซึ่งเป็นทางออกที่ทั้งสะดวกสบายและปลอดภัยกับตนเองรวมไปถึงคนรอบข้าง
แต่ทว่าทางออกเพื่อแก้ปัญหาหนึ่ง กลับกลายเป็นปัญหาในอีกทางหนึ่ง เมื่อทุก ๆ ออเดอร์ที่เรากดสั่ง มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์จำนวนมหาศาลที่นับวันจะยิ่งกลายเป็นขยะกองพะเนินอยู่ในห้อง
จริง ๆ แล้วปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ล้นโลกเป็นแนวโน้มที่มีการคาดการณ์กันมาหลายปีแล้ว และกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจเลือกสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกขึ้น หลาย ๆบริษัทจึงต้องพยายามคิดค้นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่จะมาตอบโจทย์นี้ เพื่อให้สินค้าและบริการของพวกเขายังคงได้รับความนิยมควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
มาดูกันดีกว่าว่า ทั่วโลกในตอนนี้มีนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมอะไรน่าสนใจออกมาบ้าง

ขยะขวดพลาสติกจริงๆแล้วไม่ได้รีไซเคิลง่ายอย่างที่คิด หากแยกส่วนประกอบของขวดน้ำดื่มออก ส่วนที่รีไซเคิลยากที่สุดก็คือฉลาก เพราะฉลากต่างยี่ห้อก็ใช้พลาสติกต่างประเภทกัน การแยกฉลากพลาสติกแต่ละชนิดออกจากกันก่อนนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไป จนทำให้ฉลากพลาสติกมักลงเอยด้วยการเป็นขยะเหลือทิ้งในที่สุด
ในขณะที่บางยี่ห้อแก้ปัญหาด้วยการฉีดสีหรือพิมพ์ลายลงไปบนขวดเสียเลย แต่นั่นก็กลับทำให้พลาสติกหลังรีไซเคิลปนเปื้อนสี จนโรงงานรีไซเคิลส่วนใหญ่ไม่อยากรับซื้อ
ถ้ามีฉลากแล้วยุ่งยากนัก ก็ไม่ต้องมีเลยแล้วกัน บริษัทน้ำดื่มหลายๆยี่ห้ออย่างเช่น น้ำแร่เอเวียง (Evian) แบรนด์น้ำแร่สัญชาติฝรั่งเศส ได้พลิกวิธีคิดเกิดเป็นนวัตกรรมช่วยแก้ปัญหาที่เรียบง่ายที่สุดนั่นก็คือ การคิดค้นขวดใสไร้ฉลาก โดยเปลี่ยนจากการแปะฉลากพลาสติกเป็นการปั๊มโลโก้ลงไปบนขวดแทน และไม่ตกแต่งสีสันเพิ่มเติมใดๆ ทำให้นอกจากจะเป็นขวดที่ผลิตจากพลาสติกรีไซเคิล 100% แล้ว ยังสามารถนำไปรีไซเคิลใหม่ได้ 100% อีกด้วย

โดยทั่วไป บรรจุภัณฑ์ของเส้นพาสต้าที่เราคุ้นเคยมักมีหน้าตาเป็นถุงพลาสติกที่มีอากาศอยู่ข้างในเพื่อกันสินค้าถูกกระแทก ทำให้ถุงพาสต้ามีขนาดใหญ่ เปลืองพื้นที่โดยไม่จำเป็น ทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนในการจัดเก็บและขนส่งอีกด้วย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon สหรัฐอเมริกา จึงได้พยายามคิดค้นไอเดียใหม่ ที่จะทำให้เส้นพาสต้าแบน ๆ พองออกเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้เมื่อต้ม กลายเป็นพาสต้า 3 มิติที่จะมากู้วิกฤตขยะล้นโลก!
เคล็ดลับที่ทำให้เส้นพาสต้าแปลงร่างได้ อยู่ที่การบากรอยเล็กๆ เรียงกันในแบบที่ดีไซน์มาเป็นพิเศษ เมื่อนำพาสต้าไปต้ม พาสต้าจะพองเป็นรูปทรงตามที่ออกแบบไว้ นอกจากนี้รอยบากยังทำให้พาสต้าดูดซับซอสได้ดียิ่งขึ้นด้วย
การทำให้พาสต้าดิบกลายเป็นเส้นแบน ๆ แบบนี้ ทำให้สามารถบรรจุในกล่องเล็กกะทัดรัดได้แบบไม่เสียพื้นที่ ช่วยประหยัดวัสดุที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์ ทำให้ต้นทุนและปริมาณคาร์บอนในการขนส่งลดลงด้วย

ยังจำน้ำอัดลมคืนขวดกันได้ไหม จะเป็นอย่างไรถ้าเราซื้อแชมพู สบู่ น้ำยาซักผ้า แล้วคืนขวดได้
Loop คือบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่คิดระบบหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ขึ้นมา โดยการจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ชื่อดัง เพื่อร่วมกันออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้และยังคงเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ มีทั้งแบบสเตนเลส อะลูมิเนียม หรือขวดแก้ว
ลูกค้าเพียงแค่สั่งซื้อสินค้าทางเว็บไซต์หรือในร้านค้าที่ร่วมโครงการด้วยราคาบวกค่ามัดจำบรรณจุภัณฑ์ เมื่อใช้สินค้าหมดแล้วก็จองคิวในระบบออนไลน์ให้ Loop มารับบรรจุภัณฑ์ถึงหน้าบ้าน และได้ค่ามัดจำคืน 100% จากนั้น Loop จะนำบรรจุภัณฑ์ไปทำความสะอาด แล้วนำมาบรรจุสินค้าขายใหม่ต่อไป
ระบบคืนบรรจุภัณฑ์แบบนี้ ทำให้ผู้บริโภคที่รู้สึกว่าการลดขยะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่ได้อินกับการแยกขยะหรือรีไซเคิลก็ยังสามารถร่วมมือได้โดยไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระขนาดนั้น
ปัจจุบัน Loop มีสินค้าที่เข้าร่วมกับบริษัท ถึงกว่า 30 แบรนด์ ครอบคลุมสารพัดผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน และมีให้บริการในสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพร้อมทานใน 3 นาที แต่ซองบะหมี่กลับใช้เวลากว่า 80 ปีในการย่อยสลาย
จะดีกว่าไหมถ้านับจากนี้เราจะไม่มีบรรจุภัณฑ์หลงเหลืออีกต่อไป เพราะมันย่อยสลายในท้องเรา
Holly Grounds นักออกแบบบรรจุภัณฑ์จบใหม่จากลอนดอน ได้คิดค้นนวัตกรรมซองน้ำซุปบะหมี่ที่กินได้หมดจดตั้งแต่เส้นยันถุง โดยพัฒนาฟิล์มไบโอพลาสติกจากแป้งนำมาทำเป็นแพ็คเกจห่อหุ้มเส้นที่ผสมเครื่องปรุงในตัว อยากทานบะหมี่เมื่อไหร่ก็โยนทั้งห่อลงไปในน้ำร้อนได้เลย ฟิล์มจะละลายกลายเป็นน้ำซุปแสนอร่อย ที่ทำให้เราทั้งอิ่มท้องและจบปัญหาขยะจากซองพลาสติกและซองเครื่องปรุงไปได้
ส่วนเรื่องความสะอาดก็ไม่ต้องกังวล เพราะก้อนบะหมี่จะถูกห่อรวมกันเป็นแพ็คใหญ่ด้วยกระดาษที่รีไซเคิลได้
สำหรับประเทศไทยเองก็มีงานวิจัยบรรจุภัณฑ์ที่คล้ายกัน เช่น ฟิล์มแครอท ผลงานการวิจัยจากกรมวิชาการเกษตร ที่สามารถนำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ที่รับประทานได้ และอุดมไปด้วยสารเบต้าแคโรทีนอีกด้วย