Intro to Startup Part 2

หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรเบื้องต้นตอนที่ 2 จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือเทคโนโลยีรายใหม่ (Startup) ซึ่งจะประกอบด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง การดีไซน์ที่ดีต้องทำอย่างไร, การทำการตลาดให้ปัง, พรีเซนต์อย่างไรให้มีคนมาลงทุน, Startup Case Studies และ ตัวช่วยต่างๆในการเริ่มต้นธูรกิจ Startup โดยเฉพาะจากภาครัฐ รวมเป็น 5 หัวข้อใหญ่ ซึ่งแต่ละหัวข้อจะประกอบด้วยวีดีโอสื่อการสอน 5 ตอน รวมเป็นจำนวน 25 ตอน สอนโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน Startup แนวหน้าของประเทศไทย ที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน Startup Thailand ถึง 5 ท่าน ประกอบไปด้วย

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ

CEO & Co-founder Techsauce Media, Startup ไทย เชี่ยวชาญการผลิตคอนเทนต์เพื่อวงการ Tech ในโลกธุรกิจ ครอบคลุมทั้งในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเป็นรายแรกผู้จัดงาน Tech Conference เชื่อมต่อคนเอเชียและคนทั่วโลก

กรัณย์ วระพงษ์สิทธิกุล

User Experience Specialist / CEO Mojito Technology Co., Ltd. บริษัท Startup ที่ให้บริการครบวงจรในการทำ Chatbot สำหรับองค์กรใหญ่เพื่อทำให้ CRM มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ไผท ผดุงถิ่น

CEO Builk One Group, Startup ที่มีเป้าหมายในปฏิวัติวงการก่อสร้างด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ โดยนำ องค์ความรู้นวัตกรรม เทคโนโลยี และไอเดียใหม่ๆ มาใส่วงการก่อสร้าง

กิตติชัย พิพัฒน์บุณยารัตน์

กรรมการ / ผู้ก่อตั้ง บริษัท อริสโท โปรดักชั่น จำกัด, ผู้ร่วมผลักดันระบบนิเวศ Tech Startup และชุมชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ในเชียงใหม่

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)


ก่อนที่จะเรียนหลักสูตรนี้ ทีมงานแนะนำให้ท่านศึกษา Intro to Startup Part1   เสียก่อน เพื่อที่จะทำให้ท่านเข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับการเริ่มต้นธุรกิจ Startup มากยิ่งขึ้นตั้งแต่จุดเริ่มต้น หลักสูตรนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก Startup Thailand

เนื้อหาคอร์ส
1. วางแผน Monopoly [อรนุช เลิศสุวรรณกิจ, Techsauce]
02:37
Monopoly คือ การครอบครองตลาด โดยในมุมของสตาร์ทอัพ เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่คนอื่นตามไม่ทัน ซึ่งคุณลักษณะ 4 อย่างของ Monopoly ตามแบบฉบับของ Peter Theil (หนังสือ Zero to One)
1. Proprietary Technology การพัฒนาบริการหรือสินค้า โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดการเติบโตแซงคู่แข่ง 10 เท่า
2. Network Effect ครองตลาดโดยมีลูกค้าประจำ เน้นการจับตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ให้ได้
3. Economies of Scale ควบคุมต้นทุนที่จะเกิดขึ้น
4. Branding การสร้างภาพลักษณ์ที่แข็งแรงและชัดเจน
2. Business Model ที่ดี [อรนุช เลิศสุวรรณกิจ, Techsauce]
02:14
Business Model ที่ดี สตาร์ทอัพต้องทำความเข้าใจกับคำว่า LTV หรือ CLV ซึ่ง LTV (Lifetime Value of Customer) และ CLV (Customer Lifetime Value) ทั้งสองคำนี้ หมายถึง คุณค่าในช่วงชีวิตของการเป็นลูกค้าและใช้บริการของคุณ
CAC (Customer Acquisition Cost) ค่าเฉลี่ยของการขายและการตลาดเพื่อให้ได้ลูกค้ามา ดังนั้น รูปแบบ Business Model ที่ดี คือ การมีค่า LTV สูง CAC ต่ำ แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีความพึงพอใจในสินค้าและบริการของคุณ
3. จะหา "ลูกค้า" จากไหน [อรนุช เลิศสุวรรณกิจ, Techsauce]
02:09
ช่วงต้นของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ต้องรู้จัก “ลูกค้า” ของตัวเองก่อนว่า ลูกค้าของคุณจะมีลักษณะแบบไหน โดยการตั้ง Persona (ลูกค้าสมมติ) ด้วยการลงรายละเอียดในเชิงลึกถึงพฤติกรรมความสนใจหรือรายได้ของลูกค้า และหากลุ่ม Early Adopter ที่เป็นกลุ่มที่เห็นคุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการของคุณ ซึ่งจุดสำคัญของสตาร์ทอัพ ที่จะต้องก้าวผ่านไปให้ได้ เรียกว่า The Chasm เป็นหุบเหวมรณะ เพื่อก้าวไปสู่ตลาดใหญ่
กล่าวโดยสรุป ก็คือ ธุรกิจของเรากำลังแก้ปัญหาให้ใคร คนเหล่านั้นคือ กลุ่มลูกค้าของคุณ
4. AARRR Metrics ตัวชี้วัดการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ [อรนุช เลิศสุวรรณกิจ, Techsauce]
02:39
Startup จำเป็นต้องทำความรู้จัก “จุดวัด” ที่เรียกว่า AARRR Metrics มาจาก
A = Acquisition การหาวิธีการดึงลูกค้าเข้ามา
A = Activation การหาวิธีการให้ลูกค้าใช้งาน
R = Retention การทำให้เกิดลูกค้าประจำ **Churn Rate อัตราที่ผู้ใช้ไหลออกไป ก็คือ การเลิกใช้
R = Revenue รายได้ที่ทำให้ธุรกิจเติบโต
R = Referral การบอกต่อกับเพื่อน
5. การสร้าง Content ที่ดี [อรนุช เลิศสุวรรณกิจ, Techsauce]
02:42
การทำการตลาดในรูปแบบ Startup คือ การทำ Content ดี ๆ บนสื่อหรือโซเชียล ซึ่งการทำ Content ที่ดี โดยการให้ความรู้ต่าง ๆ จะทำให้ลูกค้าสนใจในโปรดักต์ของคุณ ยกตัวอย่าง
ตัวอย่างที่ 1 : สตาร์ทอัพไทย Sellsuki ระบบบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ Sellsuki มีทิปส์และเทคนิคในการแนะนำวิธีสื่อสารกับลูกค้า
ตัวอย่างที่ 2 : ธุรกิจประเภท Recruitment จัดหาคน โดยการเขียน content เชิงการให้คำแนะนำการสัมภาษณ์ / วิธีการเขียน Resume
ดังนั้น สตาร์ทอัพควรทำ Content ที่ดี ไม่ควรเน้นเฉพาะการขายโปรดักต์ แต่ให้เน้นเป็นการให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายของคุณ
6. Corporate Identity คืออะไร [กรัณย์ วระพงษ์สิทธิกุล, Mojito Technology]
03:16
Corporate Identity (CI) คือ อัตลักษณ์ขององค์กร จะถูกนำมาแปรเป็น Personality ของแบรนด์ ความสำคัญของ Corporate Identity คือ การมีตัวตนที่ชัดเจน ที่ทำให้คนภายนอกสามารถจดจำเราได้ง่ายขึ้น ด้วย CI ที่ต่างกัน Target Users จะต่างกัน หรือผู้ใช้งานก็จะคนละกลุ่มกัน
Corporate Identity ที่ดี แม้ไม่เห็นโลโก้ แต่เราสามารถนึกถึงแบรนด์นั้นได้ รวมถึง สโลแกนของแบรนด์นั้นๆ ด้วยเช่นกัน สตาร์ทอัพจำเป็นต้องสร้างตัวตนให้ชัดเจน ด้วยการสร้าง Corporate Identity ผ่านโลโก้ (Logo) ฟอนต์ (Font) สี (Color) หรือคำพูดที่ใช้ตามสื่อ (Slogan)
7. Human-Centered Design [กรัณย์ วระพงษ์สิทธิกุล, Mojito Technology]
03:05
Human-Centered Design (HCD) เป็นกระบวนการออกแบบที่ยึดผู้ใช้งานของบริการหรือผลิตภัณฑ์ของเราเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจ โดยดูว่าผู้ใช้เป็นใคร มีปัญหาอะไร นำมุมมองที่ได้นั้นมาใช้ในการออกแบบ
กระบวนการ Human-Centered Design (HCD) มีอยู่ 3 Keywords คือ สร้าง วัดผล เรียนรู้ซ้ำ แล้ววนลูปทั้งกระบวนการไปเรื่อย ๆ เมื่อเรา Research ผู้ใช้งานมามากพอ การออกแบบและการแก้ไขปัญหาก็จะทำได้ตรงจุดมากขึ้น
8. ดีไซน์กับกลุ่มเป้าหมาย [กรัณย์ วระพงษ์สิทธิกุล, Mojito Technology]
03:52
การสร้างประสบการณ์ที่ดี ต้องคำนึงว่าผู้ใช้ของเราคือใคร และเลือกทำ Product ให้ดีกับกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ก่อนอื่นเราต้องหากลุ่มที่จะมาเป็น Early Adopter ของ product เราก่อน ด้วยกระบวนการ UX ที่เรียกว่า Persona (สร้างผู้ใช้เสมือน) ตั้งขึ้นมาเป็นตัวแทนผู้ใช้งานไว้สื่อสารกันในทีม เพื่อวัดผลผู้ใช้งานว่ารู้สึกอย่างไรกับ product ซึ่งข้อมูลมาจากการ survey และ interview เป็นภาพสะท้อนการใช้งาน และนำไปใช้ในการออกแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของเราอย่างแท้จริง
9. UI กับ UX [กรัณย์ วระพงษ์สิทธิกุล, Mojito Technology]
03:46
UI (User Interface) คือ ส่วนหน้าจอที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน
UX (User Experience) คือ ประสบการณ์การใช้งาน เป็นกระบวนการอ่านใจผู้ใช้งาน
ซึ่งกระบวนการเบื้องหลังที่ทำให้เกิด User Experience ที่ดี มาจากการ Interview, User Research และ Testing
User Experience เกี่ยวพันกับการวาง Concept การกำหนด Scope การวาง Requirement การทำ Research / User Journey การวาด Wireframe การวัดผลและการ Test โดยเกี่ยวข้องกับ 3 ส่วน ประกอบด้วย Business & Art & Science รวมกันได้ UX ที่ดี ดังนั้น รากฐานของเว็บไซต์ที่ดี อยู่ในกระบวนการของ UX ทั้งหมด
10. User Friendly [กรัณย์ วระพงษ์สิทธิกุล, Mojito Technology]
04:14
การออกแบบให้ตอบโจทย์ เราต้องรู้ถึงความต้องการของ users ก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อที่เราจะสามารถออกแบบแก้ไขโจทย์ที่ลูกค้าพบปัญหานั้นได้ตรงจุดที่สุด คำว่า User Friendly จึงค่อนข้างกว้าง เพราะความแตกต่างกันของ product ตามแต่ละธุรกิจและกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้น การออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการจึงแตกต่างตามไปด้วย
User Experience Process จำเป็นมากสำหรับสตาร์ทอัพ เราควรทุ่มเวลาทำความเข้าใจผู้ใช้งานให้ลึกซึ้ง จะช่วยลดความสูญเสียด้านเวลาและทรัพยากร การทำความเข้าใจผู้ใช้งานจะทำให้เห็นความชัดเจนของโปรดักต์ของเราได้ดีขึ้น ทุกโปรดักต์มี Core Value แตกต่างกัน ส่วนใหญ่โปรดักต์ที่ประสบความสำเร็จจะยึด Core Value ของตัวเองได้ คือ การทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งสำคัญของโปรดักต์เรามากที่สุด
11. การนำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching) : สิ่งที่ไม่ควรทำ [ไผท ผดุงถิ่น, Builk One Group]
02:58
Pitching เป็นการนำเสนอแผนธุรกิจให้กับกลุ่มนักลงทุน โดยใช้เวลาสั้นๆ ในการนำเสนอ โดย5 สิ่งที่ไม่ควรทำในการนำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching) คือ
1. ไม่ใช้ศัพท์เทคนิคมากเกินไป
2. ไม่ใช้คำว่า “อาจจะ”
3. ไม่ Live Demo
4. ไม่พูดตามสไลด์ ใช้ภาพแทนการสื่อสาร
5. ไม่ใช้สไลด์เดิม ในการเสนอแผนแต่ละครั้ง
12. การนำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching) : สิ่งที่ควรทำ [ไผท ผดุงถิ่น, Builk One Group]
02:13
5 สิ่งที่ควรทำในการนำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching)
1. ศึกษาผู้ฟัง
2. เปิดด้วยสิ่งที่น่าสนใจที่สุด
3. อย่าเล่าเป็นหัวข้อ
4. มีความแตกต่างให้น่าจดจำ
5. ซักซ้อมให้เยอะ
13. สิ่งที่นักลงทุนอยากรู้ [ไผท ผดุงถิ่น, Builk One Group]
02:19
เมื่อการ Pitch เข้าตานักลงทุน สิ่งที่นักลงทุนต้องการรู้มากไปกว่านั้น คือ แผนธุรกิจของสตาร์ทอัพแบบกระชับ หรือที่เรียกว่า Pitch Deck และนำไปสู่การเรียกเข้าไปพุดคุยในลำดับถัดไป สตาร์ทอัพจำเป็นต้องบอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไป จุดอ่อนของตัวเอง และแผนการหรือวิธีคิดของตัวคุณเอง เพื่อให้นักลงทุนได้ทราบข้อเท็จจริง และตัดสินใจร่วมลงทุนกับธุรกิจของคุณในระยะยาว
14. ตัวเลขมหัศจรรย์ [ไผท ผดุงถิ่น, Builk One Group]
02:37
ขั้นตอนต่อไปที่นักลงทุนจะขอข้อมูลจากสตาร์ทอัพ ก็คือ Term Sheet (เอกสารเงื่อนไขข้อตกลง) หรือขอดูตัวชี้วัด (Metrics) ต่างๆ ที่สตาร์ทอัพกำลังทำอยู่ เช่น
ถ้าเป็นสตาร์ทอัพเริ่มต้นใหม่ (Early Stage) ตัวชี้วัดที่ควรแจ้งกับนักลงทุน ได้แก่
- Growth Metrics หรือ Financial Metrics
- Actionable Metrics
ทั้งหมดนี้ สตาร์ทอัพต้องนำเสนอต่อนักลงทุนบน Term Sheet เป็นสิ่งที่ต้องตกลงกับนักลงทุนว่า ธุรกิจมีมูลค่าเท่าไหร่และจะเสนอหุ้นให้นักลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันดีลถึงจะเกิดขึ้น
15. ลงทุนที่ "คน" [ไผท ผดุงถิ่น, Builk One Group]
02:08
กลยุทธ์การทำสตาร์ทอัพไม่ใช่การมุ่งหานักลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่สตาร์ทอัพสามารถใช้เงินทุนตัวเอง (Bootstrapping) ทำการทดสอบ Business Model และวิธีการทำให้ธุรกิจเติบโตจนมั่นใจก่อน ซึ่งการทำ Startup เป็นเรื่องของจังหวะเวลา เงินลงทุนจะได้ผลลัพธ์เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม โดยที่นักลงทุนจะเชื่อมั่นและลงทุนที่ “คน” นั่นก็คือ Founder โดยดูถึงความมุ่งมั่น และการมี passion กับสิ่งที่ทำ สิ่งนี้เป็นหลักสำคัญสำหรับนักลงทุนในการตัดสินใจร่วมลงทุนด้วย
16. Startup Case Study : PayPal [กิตติชัย พิพัฒน์บุณยารัตน์, APITEL.Co]
02:39
PayPal ถือเป็นสตาร์ทอัพที่ปฏิวัติวงการ FinTech เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา โดยที่ PayPal เข้ามาสร้างระบบการชำระเงินออนไลน์ และจุดสำคัญที่เป็น trigger point ของ PayPal คือ การต่อเชื่อมการซื้อขายบนโลกดิจิตัลกับ ebay ด้วยการเป็นพาร์ทเนอร์กัน  ดังนั้น พันธมิตรทางธุรกิจที่ดี (Strategic Partner) คือ ต้องมีความน่าเชื่อถือ และสามารถเชื่อมธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์เราได้
17. Startup Case Studies : Instagram, Facebook [กิตติชัย พิพัฒน์บุณยารัตน์, APITEL.Co]
03:09
จุดแข็งของ Instagram คือ ความสามารถด้านการถ่ายภาพและใส่ฟิลเตอร์ เมื่อ Instagram มาถึงจุดที่ลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มี business model จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการหา Funding ให้เก่ง
สำหรับด้าน Facebook นั้นก็ตัดสินใจซื้อ Instagram เพื่อควบรวมกิจการ โดยมีเป้าหมายคือ การขยายฐานผู้ใช้งานให้เพิ่มขึ้นและทำการตลาดบนแพลตฟอร์มนั้นได้ต่อ เมื่อย้อนกลับไปช่วงต้นของ Facebook มีวิธีคิดในการเข้าสู่ตลาดที่แตกต่างและน่าสนใจ (Go-to-Market) โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นลูกค้ากลุ่มแรก สร้างขึ้นเฉพาะกลุ่ม Niche Market เท่านั้น และทำให้คนกลุ่มนี้กลายเป็น Word of Mouth จะเห็นได้ว่าสินค้าหรือบริการของสตาร์ทอัพนั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทุกคน แต่สร้างขึ้นเพื่อกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง เมื่อลูกค้าเกิดความรักในตัวแบรนด์สินค้า จึงทำให้เกิด Early Adopter ที่จะบอกต่อและขยายสินค้าของเราได้อย่างรวดเร็ว
18. Startup Case Studies : Uber, Airbnb [กิตติชัย พิพัฒน์บุณยารัตน์, APITEL.Co]
03:00
จุดเริ่มต้นของ Uber มาจากปัญหาการเรียก Taxi จึงทำให้เกิด mobile app นี้ขึ้นมา
ความท้าทายของ Uber คือ ต้องบริหารจัดการเรื่องคนขับและผู้โดยสารให้จำนวนเหมาะสมกัน โดยใช้เทคนิคบนซอฟต์แวร์เข้ามาช่วย เช่น การจัดทำ Rating การทำ Dynamic Pricing Model
ส่วนกรณีศึกษาของ airbnb เป็นสตาร์ทอัพการแบ่งปันที่พัก ถูกสร้างขึ้นมาจากการเปิดให้คนอื่นเข้ามาเช่าที่พักของตน โดยเริ่มต้นการทำ MVP (Minimum Viable Product) จากทรัพยากร (ที่พัก) ที่มีอยู่แล้ว ถือว่า Airbnb เข้ามาเปลี่ยนบทบาทการใช้ชีวิตของคนเรามากขึ้น จากเดิมนักท่องเที่ยวมักหาที่พักตามโรงแรม แต่ในปัจจุบันมีความต้องการเช่าบ้านพักกับคนในท้องถิ่นนั้นๆมากกว่า ด้วยการขายประสบการณ์ (Experience) ของแต่ละเมืองหรือสถานที่นั้นๆ ให้กับผู้ใช้งาน
19. Startup Case Study : Wongnai [กิตติชัย พิพัฒน์บุณยารัตน์, APITEL.Co]
02:49
Wongnai เป็นเว็บไซต์และแอปพลิเคชันค้นหาและรีวิวร้านอาหาร บิวตี้ และสปาอันดับ 1 ของไทย สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสำหรับคนที่ชอบหาร้านอาหารอร่อยทาน โดยใช้โมเดลจากแอปต่างประเทศมาปรับใช้กับเมืองไทย เรียกว่า การทำกลยุทธ์ปรับตามรูปแบบท้องถิ่นนั้นๆ (Localization) สร้างกลุ่ม Power Users Group ให้ผู้ใช้เข้ามาทำการรีวิว และให้ Ranking กัน
อีกส่วนคือ การทำ Personalization ออกแบบ UX UI ให้เข้าถึงผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด เพื่อเลือกส่งเฉพาะคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องไปยังผู้ใช้งานแต่ละคน Business Model สำคัญของ Wongnai คือ การให้ร้านค้าและร้านอาหารมาลงโฆษณา มีโปรโมชั่นที่ร้านค้าจะได้ประโยชน์ และดึงดูดใจผู้บริโภค
20. Startup Case Studies : Jitta, iTAX [กิตติชัย พิพัฒน์บุณยารัตน์, APITEL.Co]
03:13
Jitta เป็นสตาร์ทอัพในกลุ่ม FinTech ที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เป็นแพลตฟอร์มการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ช่วยแก้ปัญหาในการวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัว ซึ่งจะมี Jitta Line และ Jitta Score เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกลงทุน
iTAX เป็นเครื่องมือบริหารจัดการภาษี ช่วยคำนวณภาษีและวางแผนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันชีวิต ซื้อกองทุน LTF/RMF ซึ่งโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับสตาร์ทอัพ คือ การทำ Lead Generation พากลุ่มผู้ที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ไปพบผลิตภัณฑ์การเงินที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด โดยทาง iTAX จะได้รับค่าธรรมเนียมเป็นผลตอบแทน ผลดีของการทำสตาร์ทอัพลักษณะนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เข้ามาใช้งานร่วมกันได้ง่ายขึ้น
21. Startup กับ ตัวช่วยจากภาครัฐ [ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์]
03:21
3 กลุ่มตัวช่วยสำคัญที่ภาครัฐสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น
1) แหล่งเงินทุน : NIA Venture สนับสนุนในรูปแบบเงินให้เปล่า หรือที่เรียกว่า Grants ให้แก่ 9 กลุ่มอุตสาหกรรม สูงสุดที่ 1.5 ล้านบาท ซึ่งผู้สนับสนุนคือ สำนักงานนวัตกรรม (NIA)
Startup Voucher เงินสนับสนุนการต่อยอดด้านการตลาด หน่วยงานที่สนับสนุน คือ สวทช. ให้การสนับสนุน 800,000 บาท/ราย
การแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน พัฒนาธุรกิจให้มีนวัตกรรมลอกเลียนแบบยาก โดยการขอเงินสนับสนุต่อยอด สูงสุดอยู่ที่ 3 ล้านบาท
2) องค์ความรู้ จัดอบรม INCUBATION / ACCELERATOR ร่วมกับองค์กรชั้นนำที่มีชื่อเสียงด้าน Startup ไม่ว่าจะเป็น อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และจีน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว เกิดเป็นโครงการ SPARK เป็น Accerator ภาครัฐที่ร่วมมือกับอิสราเอล
3) พัฒนาเชิงพื้นที่ ทาง NIA ได้ลงพื้นที่ในเขตภาคเหนือตอนบน ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่ม EEC และกลุ่มภาคอีสาน โดยมีการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้วยกิจกรรม 3 DAYS STARTUP และ 8 WEEKS COACHING และมีเงินสนับสนุนอยู่ที่ 600,000-1,000,000 บาท รวมถึง การพัฒนาย่านนวัตกรรม ทั้งหมด 10 ย่าน ย่านที่กรุงเทพฯ 6 ย่าน และภาคตะวันออกอีก 4 ย่าน
22. กฎหมายสำหรับ STARTUP [ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์]
02:34
กฎหมายสำหรับ Startup  แบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ
ส่วนที่ 1  การทำ Regulatory Sandbox ลงนามความร่วมมือกับ 30 องค์กร เพื่อกำหนดแนวทางยกระดับหลายประเด็น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FinTech เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสทดลอง Business Model ใหม่ๆ ที่กฎหมายยังครอบคลุมไม่ทั่วถึง สามารถพัฒนาสาขาธุรกิจใหม่มีกฎหมายที่ตอบสนองนวัตกรรมของประเทศ
ส่วนที่ 2  เร่งร่าง พ.ร.บ. วิสาหกิจเริ่มต้น ซึ่งเป็น กฎหมายเฉพาะสำหรับสตาร์ทอัพจะเป็นตัวช่วยเร่งการเติบโตของ Startup Ecosystem ให้เปิดกว้างและเปลี่ยนแปลงได้
23. นักรบเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่ [ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์]
02:26
สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งบ่มเพาะปลูกฝัง “นักรบเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่” ให้ออกมาเป็น Founder และนวัตกรส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น รวมถึงยังมีหน้าที่หลักในการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาโอกาสของวิสาหกิจเริ่มต้น  โดยปัจจุบันมีการสนับสนุนนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 30 แห่ง จำนวนปีละ 30,000 คน เพื่อให้นำความรู้มาใช้ต่อยอดพัฒนาเป็นธุรกิจ รวมถึงการให้องค์ความรู้สำหรับอาจารย์และบุคคลากรต่างๆ ในมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน
24. เอกชนกับการส่งเสริมธุรกิจ Startup [ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์]
01:53
กลุ่มเอกชน ถือเป็นหัวหอกสำคัญในการพัฒนาสตาร์ทอัพ  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของบริษัทด้านโทรคมนาคม ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ที่จะเข้ามาส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ละบริษัทให้ความสำคัญการพัฒนาระบบนิเวศน์ในรายสาขาธุรกิจที่เฉพาะเจาะจง เช่น  ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สุขภาพ ประกันชีวิต อาหาร และเกษตร ในอนาคตจะมีกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เติบโตในสาขาที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างยิ่งใหญ่
25. แบบประเมินหลังการเรียน
01:12
ผู้ผ่านหลักสูตรสามารถดาวน์โหลดเอกสารเฉลยข้อสอบได้จากบทเรียนนี้ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการประเมินคุณภาพของบทเรียนและระบบการใช้งาน ซึ่งความเห็นของคุณจะช่วยในการพัฒนา NIA Academy MOOCs ต่อไป และในตอนท้ายของแบบทดสอบจะเป็นแบบฟอร์มเพื่อขอใบประกาศนียบัตรออนไลน์ (Online Certificate) ออกให้โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
เนื้อหาทั้งหมด 25 วิดีโอ รวม 01 ชั่วโมง 09 นาที
เรียนรู้เรื่องราวของคำว่า Startup ตั้งแต่นิยามของมัน ตัวอย่างของเคสที่ประสบความสำเร็จทั้งในไทยและต่างประเทศ ตลอดจนเรื่องราวของกลไกการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจ Startup จริงจากภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
ฟรี
ผู้สอน
วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก Startup Thailand

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

กิตติชัย พิพัฒน์บุณยารัตน์

ผู้บริหาร APITEL.Co , Aristo Production และผู้ร่วมผลักดันระบบนิเวศ Tech Startup และชุมชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ในเชียงใหม่

ไผท ผดุงถิ่น

CEO Builk One Group

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ

CEO & Co-founder Techsauce Media

กรัณย์ วระพงษ์สิทธิกุล

User Experience Specialist / CEO Mojito Technology Co., Ltd.

รีวิว
NIA MOOCs Tech Support