เส้นทางก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ภาคการเกษตรมีความสำคัญกับประเทศไทยและทั่วโลก เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับทุกคนในโลก รวมทั้งประเทศไทยที่เป็นเป็นฐานการผลิตผลิตผลเกษตรที่สำคัญของโลก โดยเห็นได้จากการที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญอันดับต้นๆ ของโลก เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล ปลาทูน่า โดยที่เกษตรกรเปรียบได้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ที่มีจำนวนแรงงานที่เกี่ยวข้องเกือบหนึ่งในสามของประเทศ เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไม่ถึงร้อยละ 10 สะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งคือ เกษตรกรยังคงมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจน
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเพื่อส่งเสริมศักยภาพและยกระดับภาคการเกษตรของประเทศ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงได้มีแผนดำเนินงานเร่งสร้างเสริมความสามารถแก่ผู้ประกอบการธุรกิจที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาการเกษตรตลอดห่วงโซ่มูลค่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจนวัตกรรมเกษตร โดยมุ่งเน้นการสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง (change maker) เป็น สตาร์ทอัพด้านการเกษตร หรือ AgTech Startup ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพลิกโฉมวงการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
หลักสูตรนี้มีแนวทางการออกแบบผ่านหลักการของกระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) ที่มุ่งให้เกิดการเข้าใจปัญหาด้านการเกษตรนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจร่วมกับนำแนวคิดการทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพให้เกิดการคิดแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยมีทั้ง 4 หัวข้อ ได้แก่
Module 1 : Discover – ทำความเข้าใจผู้บริโภคเพื่อมองเห็นถึงปัญหา นำเสนอในบทที่ 1 - 6Module 2 : Define – คัดกรองและจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องการจะแก้ไข นำเสนอในบทที่ 7Module 3 : Develop – ระดมไอเดียเพื่อแก้ไขปัญหา นำเสนอในบทที่ 8-10Module 4 : Deliver – นำไอเดียที่ดีที่สุดไปพัฒนาต่อ และทดลองใช้ นำเสนอในบทที่ 11 หลักสูตรออนไลน์ “AgTech101...เส้นทางก้าวสู่ความเป็นสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ”
จึงเป็นแนวทางที่สำคัญหนึ่งในการจุดประกายให้กลุ่มคนที่จะมาสร้างความหวังใหม่และตอบโจทย์ปัญหาการเกษตรที่ท้าทาย
ด้วยรูปแบบธุรกิจแบบสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรที่สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาอย่างรวดเร็ว
ซึ่งได้ออกแบบให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์สตาร์ทอัพด้านการเกษตรตัวจริงในแนวทางการสร้างธุรกิจนวัตกรรม
เพื่อจุดพลังให้กับผู้สนใจการเรียนรู้หลักสูตรนี้
มาสร้างสรรค์เป็นสตาร์ทอัพด้านการเกษตร..เป็นนักบุกเบิกเศรษฐกิจรุ่นใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรของไทยและทั่วโลก
เนื้อหาคอร์ส
1. สตาร์ทอัพด้านการเกษตร...ผู้นำการเปลี่ยนแปลงวงการเกษตร
10:00
สอนโดย คุณ มณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สตาร์ทอัพด้านการเกษตร คือการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในวงกรเกษตร เพื่อแก้ปัญหา pain point ต่างๆ โดยแบ่งออกได้ 6 สาขาหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร, การบริหารจัดการฟาร์มด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล, หุ่นยนต์ เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ, รูปแบบการจัดการฟาร์มแบบใหม่, การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว โลจิสติกส์ในการขนส่ง, การบริการ การสร้างตลาดใหม่ของสินค้าเกษตร
เป้าหมายของสตาร์ทอัพการเกษตรคือการเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรอัตโนมัติ, มีการจัดการการเงินให้ถึงมือเกษตรกรได้รวดเร็ว, สามารถสร้างตลาดรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา, มีการบริหารจัดการของเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ และสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศผู้นำทางการเกษตร
2. เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
11:10
สอนโดย รศ. ดร.พรรณลดา ติตตะบุตร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
เทคโนโลยีชีวภาพคือเทคโนโลยีที่นำสิ่งมีชีวิตหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ
แนวโน้มด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตรแบ่งได้ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1) การใช้ไมโครไบโอมจุลินทรีย์ดินเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตและการเพิ่มผลผลิตของพืช
2) ผลิตภัณฑ์สำหรับควบคุมศัตรูพืชโดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ
3) การสร้างพืชที่มีคุณลักษณะตามความต้องการโดยการดัดแปลงยีน
4) นวัตกรรมด้านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบองค์รวมทางชีวภาพ
3. เกษตรดิจิทัล และรูปแบบการจัดการฟาร์มแบบใหม่
10:55
สอนโดย รศ.ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
เนื่องจากแรงงานภาคการเกษตรลดลง ทำให้เกษตรดิจิทัลมีแนวโน้มที่เติบโตอย่างน่าสนใจหลายด้านในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่
1) เกษตรอัตโนมัติ (Automated Agriculture)
2) ระบบวิเคราะห์ข้อมูลและภาพถ่ายด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Data and Image analysis by Artificial Intelligence)
3) บล็อกเชนเพื่อการเกษตร (Blockchain for Agriculture)
4) การแปลงกลิ่นและรสเป็นข้อมูลดิจิทัล (Digitizing Aroma and Taste)
เกษตรดิจิทัลยังเข้าไปมีบทบาทในเรื่องของการจัดการฟาร์มแบบใหม่ เช่น โรงงานผลิตพืชขนาดใหญ่เพื่อการประหยัดจากขนาด (Big Plant Factory for Economy of Scale), ฟาร์มเลี้ยงแมลงในร่มแบบปิด (Closed-Type Indoor Insect Farm), ฟาร์มในเขตเมือง (Urban Farming), ผักเก็บเกี่ยวตามต้องการ (Harvest on Demand Vegetable), การปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิตสำหรับฟาร์มรูปแบบใหม่ (Breeding of Organisms for New Farming Model)
4. เครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
10:00
สอนโดย ผศ.ดร.หทัยเทพ วงศ์สุวรรณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
ภาคการเกษตรในประเทศไทยประสบภาวะขาดแคลนแรงงาน แต่โลกมีความต้องการผลผลิตทางอาหารสูง จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเครื่องจักรกลหรือ AI เข้ามาแก้ปัญหาภาคการเกษตรให้มากขึ้น โดยจะมีแนวโน้มที่น่าสนใจ ได้แก่
1) การพัฒนาเซนเซอร์เก็บข้อมูล,
2) การนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อใช้กับระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์
3) การทำเกษตรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
5) โรงงานผลิตพืชสมุนไพรคุณภาพสูง
6) ระบบอัตโนมัติที่ใช้เทคโนโลยี AI
5. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง
10:28
สอนโดย ผศ.ดร.ฐิติพร มะชิโกวา สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
และ ผศ.ดร.พันทิพย์ ปิยะทัศนานนท์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ หัวหน้าสาขาวิชาภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
สตาร์ทอัพที่จะเข้ามาทำธุรกิจหลังการเก็บเกี่ยวหรือด้านการขนส่งของสินค้าทางการเกษตรยังมีพื้นที่อีกมากในประเทศไทย การจัดการที่เหมาะสมจะสามารถคงสภาพผลผลิตสู่ผู้บริโภคได้
การจัดการด้านการเก็บเกี่ยวเป็นขั้นตอนที่มีผลกระทบต่อผลผลิต จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ช่วยลดผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย
นวัตกรรมหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่งมีความสำคัญในระดับประเทศและระดับโลก เพราะในธุรกิจสินค้าเกษตรมีความบอบบางเรื่องการคงคุณภาพของสินค้า ธุรกิจที่จะเข้ามาสนับสนุนจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การขนส่งสินค้าเกษตรเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. การบริการทางธุรกิจเกษตร และตลาดสินค้าเกษตร
10:12
สอนโดย รศ.ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ธุรกิจบริการด้านการเกษตรมันเป็นธุรกิจที่บริษัทให้ความต้องการบางอย่างที่ตอบสนองความต้องการของผู้คน อาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราจับต้องได้ เป็นเทคโนโลยีบางอย่าง ขาย Service หรือบริการที่มีความต้องการอยู่ในตลาด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่น่าสนใจ ได้แก่
1) แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับส่งสินค้าเกษตรและอาหารแบบด่วนพิเศษ (On-line Platform for high speed delivery of agricultural products and foods)
2) ระบบขนส่งอาหารอัตโนมัติ (Automated Food Delivery)
3) แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับบริการด้านการเกษตรตามสั่ง (On-line Platform for Agricultural Service On Demand)
4) แชทบอตด้านการเกษตร (Agricultural Chatbot)
5) บริการอาหารและการเกษตรเฉพาะกลุ่ม (Niche Food and Agricultural Services)
7. ปัญหาด้านการเกษตร กับการสร้างโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพเกษตร
09:39
สอนโดย คุณ รพีภัทร เอกพันธ์กุล (น้ำ) เจ้าของรพีภัทรฟาร์ม
ฟาร์มเลี้ยงไก่ชนรพีภัทรฟาร์ม ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความรัก ตามแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีระบบโรงเพาะพันธุ์ไก่ โรงเลี้ยงไก่ โดยไก่ชนจะเป็นสัตว์ที่ต้องการพื้นที่มากกว่าไก่เลี้ยงเพื่อบริโภค มีความพิถีพิถันเรื่องอาหารการกินและวัคซีน รวมถึงการดูแลเมื่อไก่มีอาการเจ็บป่วยไม่สบาย ไก่ชนในรพีภัทรฟาร์มส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์พม่า เป็นที่นิยมสำหรับนักเพาะพันธุ์ไก่และการนำไปเป็นนักกีฬา โดยการทำฟาร์มไก่ชนต้องมีหัวเชื้อสายพันธุ์ที่ดีก่อน จะสามารถเพาะพันธุ์ได้ทายาทที่พันธุ์ดีตามมา จะทำให้ฟาร์มเติบโตได้เรื่อยๆ
8. จากความชอบ และต่อยอดจากบทบาทของนักศึกษาสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ : Novy Drone…อากาศยานไร้คนขับสำหรับการตรวจสอบป้องกันโรคและศัตรูพืช
10:00
สอนโดย คุณ กฤตธัช สาทรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนวี่ (2018) จำกัด
โนวี่โดรนคือบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ เริ่มจากการรวมทีมไปร่วมแข่งขันโครงการ UAV Start Up 2017 เพื่อพัฒนาโดรนด้านการเกษตร และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน หลังจากนั้นจึงได้แนวคิดมาต่อยอดการทำธุรกิจว่าจุดสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมคือการดูที่ปัญหาจริงๆ ของเกษตรกรและตอบโจทย์แก้ปัญหานั้นให้ได้
9. LED ฟาร์ม….ต่อยอดความเชี่ยวชาญสู่ธุรกิจใหม่ด้านการเกษตร
10:02
สอนโดย คุณ ชิงชัย คนธรรพ์สกุล ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซีวิค มีเดีย จำกัด
บริษัท ซีวิค มีเดีย จำกัด คือบริษัทผู้ผลิตจอแสดงผล และจอ LED ขนาดยักษ์ และทำหลอดไฟต่างๆ ที่ทดแทนฟูออเรสเซ้นส์ มีความเชี่ยวชาญเรื่องการ Coding program และออกแบบวงจรดิจิทัล รวมถึงเชี่ยวชาญเรื่อง IOT จึงกระโดดเข้ามาสู่ธุรกิจการทำหลอด LED เพื่อใช้ในการปลูกพืชและสร้างโรงงานปลูกพืช (Plant Factory) โดยขั้นตอนการนำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่เกิดจากปัญหาที่ต้องเผชิญในธุรกิจของสินค้าเดิม เช่น คู่แข่งที่มีมากขึ้น, สินค้าไม่เป็นที่ต้องการในตลาดเหมือนเดิม
10. จากพนักงานบริษัทสู่การเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ : Algaeba...แพลตฟอร์มนับลูกสัตว์น้ำด้วยปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์วิชั่น
10:04
สอนโดย ดร.กันย์ กังวานสายชล CEO และผู้ก่อตั้ง บริษัท อัลจีบา จำกัด
อัลจีบาเป็นบริษัทที่นำความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาผนวกกันเพื่อสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาให้วงการอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากพื้นที่ของอุตสาหกรรมนี้ยังมีผู้เล่นน้อย จุดเริ่มต้นเลยทำเรื่องสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อจะไปเป็นอาหารสัตว์น้ำ แต่ล้มเหลวเนื่องจากจำนวนผู้ซื้อมีไม่มากพอที่จะเลี้ยงบริษัท จึงเปลี่ยทิศทางองค์การโดยนำเอาปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแก้ปัญหา
สตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จได้ขั้นแตกคือต้องมีคนจ่ายเงินซื้อธุรกิจจึงจะไปต่อได้ ต้องมีทีมที่เข้มแข็ง และมีเงินทุนที่สนับสนุน การทำธุรกิจสตาร์ทอัพควรต้องผสมผสานความเป็น SME เข้าไป คือการมีโมเดลธุรกิจที่สามารถขยายได้ดีในอนาคต แต่ต้องประพฤติตัวแบบ SME เพื่อจัดการระบบการเงินของธุรกิจ
11. กลไกการสนับสนุนการพัฒนาสู่การเติบโตของสตาร์ทอัพด้านการเกษตร
10:00
สอนโดย คุณ มณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สิ่งสำคัญของการเป็นสตาร์ทอัพด้านการเกษตรคือ การมี Passion ร่วมกันในการที่จะช่วยพลิกโฉมด้านการเกษตร
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมีกลไกต่างๆ ที่ร่วมสนับสนุนให้ก้าวไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพด้านการเกษตรได้อย่างเร็วขึ้น ได้แก่ โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งสร้าง, ทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การสร้าง Community เกี่ยวกับสตาร์ทอัพด้านการเกษตร และการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเพื่อสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่เอื้อต่อการเติบโต
12. แบบประเมินหลังการเรียน
01:12
ผู้ผ่านหลักสูตรสามารถดาวน์โหลดเอกสารเฉลยข้อสอบได้จากบทเรียนนี้ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการประเมินคุณภาพของบทเรียนและระบบการใช้งาน ซึ่งความเห็นของคุณจะช่วยในการพัฒนา NIA Academy MOOCs ต่อไป และในตอนท้ายของแบบทดสอบจะเป็นแบบฟอร์มเพื่อขอใบประกาศนียบัตรออนไลน์ (Online Certificate) ออกให้โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ