Sustainable Development, ESG and Business Model: Development Programme

หลักสูตร “การสร้างกรอบแนวคิดธุรกิจใหม่และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
Sustainable Development, ESG and Business Model Development Programme”

ESG ที่ย่อมาจาก Environmental (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นสิ่งที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจเน้นย้ำกันว่าจะต้องหันมาให้ความสำคัญ เพราะโลกต้องการความเปลี่ยนแปลงเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากปัญหาโลกร้อน หรือ Climate Change ธนาคารออมสินและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เล็งเห็นว่าการเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจตามแนวทาง ESG จะเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำธุรกิจในอนาคต
หลักสูตรนี้จะเน้นเรื่องการทำธุรกิจใหม่ตามทิศทางหรือแนวโน้มกระแสโลก ที่ให้ความสนใจเรื่องของ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ซึ่งจะมีประเด็นหลัก ๆ คือการทำธุรกิจที่หารายได้ แต่ก็ยังให้ความใส่ใจต่อผลกระทบที่จะมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม คือเราจะทำยังไงถึงจะได้ไอเดียของธุรกิจที่สนับสนุนสังคมให้ดีขึ้น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและก็ยังสร้างรายได้ในตัว
การเรียนรู้จะแบ่งเป็น 5 หมวด 10 วิชา ดังนี้

หมวดที่ 1. แนวโน้มการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช
 ดร.นิมิต  นิพัทธ์ธรรมกุล
แนวโน้มการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เรียนรู้เรื่องราวประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงเรื่องของแนวโน้มของความต้องการความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ กระแสความสนใจในเรื่องความยั่งยืน ไปจนถึงทฤษฎี Triple Bottom line ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการตื่นตัวในเรื่องของ ESG นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของกระแสการขับเคลื่อนในเรื่องของความยั่งยืน SDGs Goals ปิดท้ายด้วยเรื่องราวความสำคัญของ ESG นำเสนอโดยดร.นิมิต นิพัทธ์ธรรมกุล จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช
 ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ศกยง พัฒนเวคิน วงศธร จันทร์ตรี สุภาธินี กรสิงห์
ธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทำความรู้จักธุรกิจใหม่ เรียนรู้แนวคิดการทำธุรกิจที่ใส่ใจผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมสังคม โดยในบทเรียนนี้จะได้เรียนรู้จากเคสตัวอย่างจริงจากธุรกิจหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น NGOs อย่าง “Precious Plastic Bangkok” ภาค Social Enterprise กับแบรนด์ “อภัยภูเบศร” ภาคธุรกิจกับบริษัทออกแบบสินค้าพลาสติกรักษ์โลก “Qualy Design” ไปจนถึง Startup ทั้งรายใหญ่ที่ทำเรื่อง Cabon Credit อย่าง “Vekin” และปิดท้ายด้วยทีมนักศึกษาจากโครงการ GSB Smart Startup company กับโครงการนวัตกรรมเพื่อคนตาบอดกับทีม “Automation Micro Design”

หมวดที่ 2. แนวคิดธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช
 ชวัลรัศมิ์ จตุเทน เกษนภา บัวทอง
รูปแบบธุรกิจ

เรียนรู้กรอบแนวคิดที่เป็นภาพรวมของกิจกรรมในการทำธุรกิจ ตั้งแต่เหตุผลว่าทำไมถึงอยากทำธุรกิจนี้ ธุรกิจที่ทำมีกิจกรรมอะไรบ้าง ต้นทุนกับรายได้เป็นยังไง ตลอดจนรูปแบบแนวคิดและกระบวนการทำธุรกิจ โดยจะมีการนำเสนอตัวอย่างการบูรณาการแนวคิดในเรื่องของ Sustainability กับ New Business ว่ามีการวางแผนและการปรับแผนอย่างไร ซึ่งนอกจากเนื้อหาและตัวอย่างแล้ว จะมีกรณีศึกษาที่เป็นทีมนักศึกษาจากโครงการ GSB Smart Startup company กับโครงการพวงหรีดจากผักตบชวา “Nature House” และทีมผู้พัฒนา อาหารวัวมอมอ ฟีด “เคแอนด์พี อินโนเวชั่น 2020”

หมวดที่ 3. การออกแบบธุรกิจใหม่

ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช
 สิรินารถ ธเนศวรกุล ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ศกยง พัฒนเวคิน
ความสอดคล้องระหว่างคุณค่าและความต้องการของผู้บริโภค

เรียนรู้ในเรื่องความสำคัญกับตัวคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เราจะใช้ในการทำธุรกิจ และความสอดคล้องของคุณค่านั้นกับกลุ่มเป้าหมาย โดยจะสอนวิธีบูรณาการแนวคิดเรื่องความยั่งยืนกับการพัฒนาธุรกิจใหม่ การมองหาช่องว่างของตลาด การหา Pain Point ด้าน Sustainability, ด้านความต้องการของลูกค้าและด้านความต้องการของชุมชนไปควบคู่กัน ซึ่งในบทเรียนนี้จะได้เรียนรู้กับวิทยากรพิเศษมากมายจาก “Qualy Design”, “MuvMi”, “I.P.One” และ “Vekin” ที่จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์จากการทำธุรกิจ

ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช
 สุภาธินี กรสิงห์
การวิเคราะห์ความต้องการเชิงลึก

การสังเคราะห์รายละเอียดเชิงลึกในเรื่องของตัวทัศนคติ และพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคที่เราอยากจะทำธุรกิจ อยากขายสินค้าหรือให้บริการ แนวทางในการทำความเข้าใจถึง Customer Insight รวมไปถึงเครื่องมือและเทคนิคที่จำเป็นต้องใช้ นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาที่เป็นทีมนักศึกษาจากโครงการ GSB Smart Startup company กับโครงการนวัตกรรมเพื่อคนตาบอดกับทีม “Automation Micro Design”

หมวดที่ 4. การวิเคราะห์ต้นทุนและกำหนดราคา

ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช
 ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ สิรินารถ ธเนศวรกุล
การวิเคราะห์คุณค่า

บทเรียนนี้จะเน้นในเรื่องของการหา “Value Proposition” ผ่านเครื่องมืออย่าง Value Curve เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบคุณค่าของสิ่งที่เรากำลังจะมอบให้กับลูกค้ากับคู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจ เพื่อวางแผนในเรื่องการออกแบบหรือปรับปรุงคุณค่าที่อยู่ในผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างไรเพื่อสร้างความแตกต่างและสื่อสารกับกลุ่มลูกค้า ซึ่งในบทเรียนนี้จะได้เรียนรู้กับวิทยากรพิเศษจาก “Blind Experience”, “I.P.One” และ “อภัยภูเบศร” ที่จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์จากการทำธุรกิจจริง

ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช
 มนตรี อุดมฉวี ถิรเจตน์ วังแง่ ชนาธิป หวังปาน
การออกแบบรูปแบบธุรกิจ

เรียนรู้รายละเอียดกิจกรรมในการทำธุรกิจว่ามีอะไรบ้างและมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจอย่างไร โดยจะเน้นเรื่องของทรัพยากรที่ต้องใช้ กระบวนการที่ต้องทำ กลไกการดำเนินงาน กระบวนการผลิต การปรับตัว การให้ความสำคัญกับพันธมิตร ไปจนถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากเนื้อหาและตัวอย่างแล้ว จะมีกรณีศึกษาที่เป็นทีมนักศึกษาจากโครงการ GSB Smart Startup company กับ “เทคมอร์โรว์” ผู้พัฒนาเทคโนโลยี IoT และ AI , ทีมพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากทางปาล์มน้ำมัน “ปาล์ม แพคเกจจิ้ง” และผู้ผลิตสินค้าพลาสติกชีวภาพ "Smart Bio Plastic"

ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช
 สุทธิรักษ์  ดวงบุรงค์
การวิเคราะห์ต้นทุนตามรูปแบบธุรกิจ

นำเสนอเรื่องของการวิเคราะห์รายละเอียดของต้นทุนในการทำธุรกิจ โดยจะแยกต้นทุนออกมาเป็น 3 ประเภท ต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร และก็เงินทุนที่เราต้องเอามาลงทุนทั้งหมด แล้วก็วิเคราะห์แนวโน้มในเรื่องของการดูจุดคุ้มทุน นอกจากนั้นยังจะครอบคลุมเนื้อหาในเรื่องของการเตรียมพร้อมทางด้านการเงิน แหล่งเงินทุน และการวางแผนด้านการขยายธุรกิจกับแผนการเงิน ซึ่งบทเรียนนี้จะมีวิทยากรพิเศษ ดร.สุทธิรักษ์ ดวงบุรงค์ นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ จาก NIA มาร่วมให้เทคนิคดี ๆ ในการวิเคราะห์ต้นทุนและวางแผนทางการเงิน

ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช

การกำหนดราคาและวิเคราะห์ความคุ้มค่าธุรกิจ

บทเรียนนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆที่จะส่งผลต่อความสำเร็จในการทำธุรกิจ โดยจะเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ระดับราคาให้สอดคล้องกับกรอบแนวคิดต้นทุนธุรกิจ การยอมรับของลูกค้า การกำหนดราคาเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการสู่ตลาดให้ลูกค้ายอมรับได้ รวมไปจนถึงการควบคุมต้นทุนที่ดี

หมวดที่ 5. การออกแบบแหล่งรายได้

ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช
 ศกยง พัฒนเวคิน ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ มนตรี อุดมฉวี
การออกแบบรูปแบบรายได้สำหรับธุรกิจ

บทเรียนสุดท้ายจะเรียนรู้การออกแบบการเลือกลักษณะรายได้ที่องค์กรสามารถต่อยอดได้ โดยอาศัยรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เช่น Advertising , Subscription Model หรือ Data into Assets โดยจะต้องคำนึงถึงความสำคัญด้านแหล่งรายได้ การวางแผนสำหรับการปรับเปลี่ยน Business Model ซึ่งในบทเรียนนี้จะได้เรียนรู้กับวิทยากรพิเศษมากมายจาก “Qualy Design”, “MuvMi” และ “Vekin” ที่จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์จากการทำธุรกิจจริง และกรณีศึกษาที่เป็นทีมนักศึกษาจากโครงการ GSB Smart Startup company กับ “เทคมอร์โรว์” โครงการพัฒนาเทคโนโลยี IoT และ AI

NIA MOOCs Tech Support